19 กันยายน 2567 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานการประชุมทางไกล เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 3/2567 ร่วมกับกรมต่างๆ สำนักงานเขตสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง
โดยขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี ภูเก็ต สตูล และตรัง
มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 63 อำเภอ 223 ตำบล 911 หมู่บ้าน รวม 9,477 ครัวเรือน พบผู้เสียชีวิตสะสม 43 ราย บาดเจ็บ 726 ราย ได้ตั้งศูนย์พักพิงแล้ว 96 แห่ง ใน 8 จังหวัด รองรับประชาชนได้ 25,435 ราย
ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการ 1,504 ราย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 66 แห่ง ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอ 6 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 49 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 1 แห่ง หน่วยบริการปฐมภูมิ 2 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง และอื่นๆ 1 แห่ง ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติทั้งหมด
สำหรับการดำเนินงานช่วยเหลือดูแลประชาชน ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวม 2,268 ทีม ให้บริการเยี่ยมบ้าน 3,469 ราย ให้สุขศึกษา 11,368 ราย ตรวจรักษา 8,116 ราย ส่งต่อ 98 ราย มอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม 5,373 ราย ให้บริการด้านสุขภาพจิต 24,944 ราย พบมีความเครียด 827 ราย ส่งพบแพทย์ 136 ราย
ส่วนโรคและภัยสุขภาพที่พบจากการรักษา 5,816 ราย มากสุดคือ น้ำกัดเท้า 3,600 ราย ส่วนกลุ่มเปราะบางให้การดูแล 20,330 ราย แบ่งเป็น ติดบ้าน/ติดเตียง 1,510 ราย ผู้พิการ 405 ราย หญิงตั้งครรภ์ 281 ราย ผู้สูงอายุ 11,818 ราย และอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยฟอกไต จิตเวช 6,316 ราย
นอกจากนี้ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้ประชาชนพื้นที่ประสบภัยรวม 60,762 ชุด ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 19,688 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 12,290 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน 1,850 ชุด ยากันยุง 21,840 ชิ้น และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 5,000 โดส
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญพายุหมุนเขตร้อน รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้วันที่ 19-21 กันยายน 2567 โดย 24 จังหวัดที่ต้องเสี่ยงฝนหนักถึงหนักมาก คือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีจันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
คาดการณ์ว่าวันที่ 20-23 กันยายน 2567 จะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง 1,993 ตำบล พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 3,048 ตำบล และพื้นที่เสี่ยงต่ำ 2,383 ตำบล จึงได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยงสถานบริการ สำรวจกลุ่มเปราะบางและเตรียมแผนการเคลื่อนย้ายไปที่ปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ
ที่ประชุมได้รายงานคงคลังยาและเวชภัณฑ์ทั่วประเทศรองรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม โดยยังมียาปฏิชีวนะ Doxycycline 1.28 ล้านเม็ด ยารักษาน้ำกัดเท้า 40,795 หลอด ชุดทดสอบโรคฉี่หนู 18,496 ชุด
ภาพรวมยาและเวชภัณฑ์เพียงพออย่างน้อย 2-3 เดือน แต่ในรายจังหวัดบางพื้นที่อาจสำรองมากน้อยแตกต่างกัน ได้กำชับให้มีการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ภายในเขตสุขภาพเพื่อช่วยเหลือกันและกันด้วย นพ.วีรวุฒิ กล่าว