30 บาทรักษาทุกที่ กทม. พร้อมคิกออฟ 27 ก.ย.นี้

17 ก.ย. 2567 | 09:55 น.

สปสช. เดินหน้า "30 บาทรักษาทุกที่" กทม. เผยความพร้อมทุกมิติ ออกประกาศ 4 ฉบับ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผู้รับบริการ นายกฯแพทองธาร เตรียมเปิดงานอย่างเป็นทางการ 27 ก.ย.นี้  

17 กันยายน 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงถึงความพร้อมของ สปสช. เพื่อรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งในที่ 27 ก.ย.นี้ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้งาน "30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร" โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดงาน

สปสช. ได้ออกประกาศ 4 ฉบับเพื่อรองรับการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย ประกอบด้วย 1.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการให้บริการของหน่วยบริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

2.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการรับบริการสาธารณสุข ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเข้ารับบริการทุกครั้งขอให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ 

3.ประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ ที่ให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก จัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานและกฎหมายอย่างปลอดภัย

4.ประกาศการกำหนดตราสัญลักษณ์และการใช้ตราสัญลักษณ์สำหรับหน่วยบริการที่ให้บริการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สำหรับติดตั้งที่หน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงจุดบริการ

30 บาทรักษาทุกที่ กทม. พร้อมคิกออฟ 27 ก.ย.นี้  ขณะที่ภาพรวมของการดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า ได้ให้บริการไปแล้วจำนวน 7.57 ล้านครั้ง เป็นเงินเบิกจ่ายค่าบริการทั้งสิ้นกว่า 5,910 ล้านบาท 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. มีประมาณ 5.4 ล้านคน ไม่รวมประชากรแฝง

ผู้มีสิทธิบัตรทองนอกจากการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิแล้ว ยังสามารถรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 280 แห่ง

สปสช. ยังอำนวยความสะดวกให้สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่อีก 1,369 แห่ง ที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

นอกจากนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและสะดวกมากที่สุด สปสช. ยังได้ขยายนวัตกรรมบริการในพื้นที่ กทม. เพิ่มเติมอีก 10 ประเภท อาทิ บริการการแพทย์ทางไกลพร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน 4 แอปพลิเคชัน, บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 16 แห่ง, รถทันตกรรมเคลื่อนที่  3 คัน ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง และรถเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น เป็นต้น 

ด้าน นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า การให้บริการของหน่วยบริการจะใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวโดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว

กรณีที่เป็นการให้บริการแก่ประชาชนนอกพื้นที่รับผิดชอบ สปสช. จะจ่ายเงินแก่หน่วยบริการตามรายการบริการ (Fixed Fee Schedule) ซึ่งข้อมูลการให้บริการจะถูกเชื่อมต่อผ่าน API กับระบบเบิกจ่ายของ สปสช. และจะได้รับเงินค่าบริการภายใน 3 วันนับจากวันที่ส่งข้อมูล

30 บาทรักษาทุกที่ กทม. พร้อมคิกออฟ 27 ก.ย.นี้

ขณะที่นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงความคืบหน้าของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแต่ละแพลตฟอร์มของสถานพยาบาลกับ สปสช. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

การเชื่อมข้อมูลให้ประชาชนใช้ยืนยันตัวตนและการรับบริการ ซึ่ง สปสช. จะเชื่อม API กับทุกแอปพลิเคชันที่ประชาชนใช้ เช่น เป๋าตัง ทางรัฐ ThaID แอปฯ สปสช. และไลน์ออฟฟิเชียล @nhso

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมข้อมูลระหว่าง สปสช. กับหน่วยบริการ เช่น เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการ ที่ upload ไว้บน Cloud ทุกแหล่ง cloud หมอพร้อม, กลาโหม, UHOSNET ฯลฯ 

30 บาทรักษาทุกที่ กทม. พร้อมคิกออฟ 27 ก.ย.นี้

สุดท้าย คือ การเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกนวัตกรรม เช่น คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น ทั้งนี้ สปสช. มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 1,619 แห่ง ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสำเร็จแล้ว 1,535 แห่ง และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลอีก 84 แห่ง

นางสาวดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ได้เปิดช่องทางพิเศษ คือ สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เป็นการเฉพาะ กรณีติดขัดการเข้ารับบริการใด ๆ ก็สามารถสอบถามโดยใช้ช่องทางนี้ได้เช่นกัน ทั้งยังให้บริการนัดหมายและจองคิว

30 บาทรักษาทุกที่ กทม. พร้อมคิกออฟ 27 ก.ย.นี้

การรับรองสิทธิการเข้ารับบริการ ประสานโรงพยาบาล ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยบริการนวัตกรรมกรณีที่ผู้ป่วยต้องการเข้ารับบริการที่หน่วยนวัตกรรม เช่น กายภาพบำบัด เป็นต้น และประสานรับบริการกรณีที่ไม่ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก อาทิ บริการแว่นตาเด็ก เป็นต้น 

ในส่วนของผู้ให้บริการ สปสช. ได้เปิดสายด่วนเฉพาะ 1330 กด 5 เพื่อให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกสำหรับหน่วยบริการ เช่น สอบถามข้อมูล ตรวจสอบและรับรองสิทธิการเบิกจ่าย เชื่อมโยงบริการ ขอรหัสการเบิกจ่าย (Claim code) ตรวจสอบการจ่ายเงิน เป็นต้น