ตระหนักรู้ "มะเร็งเต้านม" ภัยสุขภาพของผู้หญิง พบผู้ป่วย 60 คนต่อวัน

20 ก.ย. 2567 | 22:10 น.

โรงพยาบาลเวชธานี จับมือ Miss Universe Thailand จัดกิจกรรม "Vejthani for all...Opal for her" ส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เผยคนไทยป่วยมะเร็งเต้านม 60 คน/วัน เสียชีวิต 4 พันคน/ปี

นายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถิติประเทศไทยในปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 60 คน/วัน เฉลี่ยประมาณ 2.2 หมื่นคน/ปี อัตราการเสียชีวิต 13 คน/วัน หรือเฉลี่ย 4 พันราย/ปี ถือว่ามีสัดส่วนมากพอสมควร แม้จะน้อยกว่าผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ โดยการรักษามะเร็งในระยะต้นและสามารถตรวจพบได้เร็วยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ แม้มีเทคโนโลยีและเครื่องมือการตรวจทันสมัย แต่ส่วนมากมักตรวจพบในระยะที่อาการแสดงออกหรือในระยะลุกลามแล้ว 

ฉะนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากรู้เร็วจะรักษาได้ รักษาง่าย รักษาหายขาดได้ และการตรวจมี 2 ระบบบริการ

  1. ระบบการตรวจของภาคเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชน หากสามารถจ่ายค่าตรวจได้เองควรตรว
  2. ระบบการตรวจของภาครัฐยัง คงจำกัดอยู่และตรวจให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในปีนี้เพิ่งมีบริการตรวจมะเร็งเต้านมเพิ่มฟรีสำหรับกลุ่มที่มีเครือญาติเคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งกำหนดอายุไว้คือ 40 ปีขึ้นไป

ดร.นพ.ตุลวรรธน์ พัชราภา ผู้อำนวยการปฏิบัติการ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ยังคงคุกคามสุขภาพของผู้หญิงทั่วโลก และพบมากที่สุดในผู้หญิงไทย จากข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2565 พบว่ามีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากถึง 38,559 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และยังพบได้ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี 40-49 ปีตามลำดับ ข้อมูลนี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการตระหนักรู้และการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพราะการพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

ตระหนักรู้ \"มะเร็งเต้านม\" ภัยสุขภาพของผู้หญิง พบผู้ป่วย 60 คนต่อวัน

"ถึงแม้สถิติการเกิดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ความโชคดีคือปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองที่ทันสมัยและแม่นยำ ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่รักษาได้ง่ายและมีโอกาสหายขาดสูง และด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก" 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลเวชธานี ได้จัดกิจกรรม "Vejthani for all...Opal for her" ขึ้น โดยตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมฟรีสำหรับผู้หญิงจำนวน 30 ท่าน ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคและรักษาสุขภาพเต้านมให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งโรงพยาบาลเวชธานีได้ร่วมงานกับ "โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี" Miss Universe Thailand 2024 เจ้าของโครงการ "Opal for her" ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงไทยหันมาดูแลสุขภาพลโดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก

พญ.รับพร สุขพานิช ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านมที่ กล่าวว่า การป้องกันมะเร็งเต้านมเริ่มที่การตรวจและการผ่าตัดเต้านมเพื่อการรักษาอย่างแม่นยำ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองเป็นประจำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แมมโมแกรมดิจิตอล 3 มิติ ที่มีความแม่นยำสูงในการตรวจพบก้อนเนื้อเล็กๆ ซึ่งวิธีการทั่วไปอาจไม่สามารถตรวจพบได้ ส่วนเทคนิคการผ่าตัดจะช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการรักษา และการรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่การรักษาได้ทันท่วงที

“ผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน การตรวจเบื้องต้นนี้สามารถช่วยให้เราสังเกตเห็นความผิดปกติได้เร็วขึ้น โดยควรตรวจในช่วงหลังจากหมดประจำเดือน ให้ยืนหน้ากระจกโดยเปลือยท่อนบน แล้วสังเกตหน้ากระจกหาความผิดปกติของเต้านม เช่น ขนาดที่ไม่เท่ากัน รูปร่างของเต้านม หรือรอยบุ๋มที่ผิดปกติ รวมทั้งการคลำเต้านมโดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเบาๆ แล้วค่อยกดแรงขึ้นเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อผิดปกติ และควรทำทั้งในท่ายืนและท่านอนเพื่อความละเอียด"

ตระหนักรู้ \"มะเร็งเต้านม\" ภัยสุขภาพของผู้หญิง พบผู้ป่วย 60 คนต่อวัน ด้าน นพ.อภิชาติ จันทรัตน์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา กล่าวว่า นวัตกรรมการรักษามะเร็งเต้านมถือเป็นทางเลือกใหม่สามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ เช่น การใช้ยาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Therapy) จะเป็นการรักษามุ่งเน้นไปที่เซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ อีกทั้งยังมีการใช้ ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การบำบัดแบบฮอร์โมน (Hormone Therapy) จะช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การรักษาเหล่านี้เป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษาแบบดั้งเดิม

นพ.ธนวัฒน์ เพชรรัชตะชาติ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว การฟื้นฟูร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่อมน้ำเหลืองอุดตันได้ ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของต่อมน้ำเหลืองและฟื้นฟูการไหลเวียนของน้ำเหลืองให้กลับมาเป็นปกติหลังการผ่าตัด ช่วยลดอาการบวมและความไม่สบายตัวของผู้ป่วย ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายผ่านการออกกำลังกายแบบเฉพาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม