นพ. พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) กล่าวในงาน “ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity” ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Thailand Wellness Tourism Competitiveness” ว่า ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจ 3 คำนิยาม คือ
1. Global Tourism การเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศหรือในทั่วโลก ที่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. Global Wellness Tourism มีหลากหลายศาสตร์เกี่ยวกับด้านสุขภาพซึ่งยังไม่รวมทั้งหมด แต่กำลังได้รับปรับปรุงพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ วิตามิน อาหารเสริมต่างๆ โดยมีมูลค่าทั้งโลกประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดใหญ่ที่สุดจะเป็นอเมริกา ถัดมาคือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากรวมการแพทย์เข้ามาเสริมจะก้าวเข้าสู่ Medical
3. Global Medical Tourism เป็นกลุ่มที่เล็กกว่า wellness มูลค่าทั้งโลก 22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น การดูแลสุขภาพแบบเจาะเลือด ตรวจร่างกาย และส่วนของประเทศไทยในกลุ่มนี้มีมูลค่าอยู่เพียง 1,000-2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 10% และในสัดส่วนนี้ดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
สำหรับตลาด Wellness Tourism ของไทยมูลค่าน่าจะสูงกว่า Medical Tourism เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย มักมากินอาหาร เดินทางไปสถานที่ต่างๆ มานวด ทำสปา โดยประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาสูง เพราะมีศักยภาพด้านการแพทย์ไม่แพ้ประเทศอื่น แต่ติดข้อกำหนดสารพัด ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรม จริยธรรม อย่างการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคหัวใจ ประเทศไทยทำได้ก่อนต่างชาติแต่ขาดข้อมูลสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนา ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีธงชัดเจน เพราะกำลังการผลิตในด้านการแพทย์เหล่านี้เพิ่งถูกนำไปใช้ใน Wellness Tourism เฉลี่ยเพียงแค่ 10% สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมาก
นพ. พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า เรื่อง Wellness ในประเทศไทยหากต้องการให้เกิดขึ้นจริง รัฐบาลก็ต้องเอาจริง เพราะส่วนที่มีอยู่คือภาคเอกชนในสัดส่วนเพียง 10% ต้องเพิ่มแรงสนับสนุนของภาครัฐเข้าไปด้วย และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือวิธีการป้องกันโรค ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย รวมถึงวิธีการกินอาหาร การกินยา กินอาหารเสริม และการให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มขึ้นจะช่วยได้
“ถ้าเราจะเปิดตลาดให้ Wellness ขยายตัวขึ้นได้ กฎหมายของประเทศไทยจะต้องปรับและช่วยส่งเสริม มีรายละเอียดที่ชัดเจน พร้อมรองรับในเรื่องนี้ อย่างการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรค จะต้องเปิดกว้างมากขึ้น ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐบาล แพทย์สภา จะต้องเปิดกว้างภายใต้กฎเกณฑ์ความปลอดภัย และไม่ปิดกั้นความรู้ที่จะพัฒนา เพราะตอนนี้หลายประเทศนำหน้าประเทศไทยไปไกลมาก ในเอเชียก็ยกตัวอย่าง อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หากประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนไปสู้การพัฒนาได้ เรื่อง Wellness จะโตขึ้น”
อย่างไรก็ตาม นโยบายในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลจะต้องอาศัยภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อเป็นหนึ่งกำลังสำคัญช่วยผลักดันกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน บริษัทต่างๆ ให้มีส่วนออกแบบและนำเสนอ การวิจัย สื่อสาร เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต