รพ.เอกชน ชงการประชุมร่วม สำนักงานประกันสังคม สะท้อนปัญหาเรื่องต้นทุน

15 ต.ค. 2567 | 22:31 น.

รพ.เอกชน เตรียมประชุมร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เรียกร้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินและปรับอัตราค่าบริการ 17 ตุลาคม 2567 นี้

ความคืนหน้ากรณีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินและปรับอัตราค่าบริการรายการในแต่ละหมวดให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้มีการปรับมากว่า 5 ปีแล้ว และมีโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 70 แห่งเตรียมถอนตัวออกจากประกันสังคมนั้น

ชงพิจารณาปัญหาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ล่าสุด นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กำหนดจัดประชุมคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่สำนักงานประกันสังคม

"การประชุมที่จะจัดขึ้นจะเป็นการประชุมครั้งแรก ที่มีตัวแทนจากผู้ให้บริการ มหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่อยากให้เกิดกรณีเช่นเดียวกันกับปี 2566 หรือมีโรงพยาบาลถอนหัวจากประกันสังคมเพิ่มในปี 2567 หากได้พูดคุยกันจะได้ข้อสรุปเรื่องต้นทุนที่แท้จริงมาคำนวณแก้ไขปัญหาร่วมกัน"

นพ.เฉลิม กล่าวว่า เบื้องต้นในการประชุมต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งเรื่องค่าหัวเหมาจ่าย, โรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรค NCDs ที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, โรคซับซ้อน ที่อัตราการใช้เพิ่มขึ้น และโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ในกลุมผู้ป่วยวิกฤต โดยต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการจะได้รับการปรับเพิ่มมากน้อยอย่างไร จะใช้ตัวชี้วันแบบไหนเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการปรับ อีกทั้งจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้อย่างไร

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการ การแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามในหนังสือคำสั่ง คณะกรรมการการแพทย์ ที่ 4/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ใจความระบุว่า คณะกรรมการ การแพทย์ในการประชุมครั้งที่ 10/2567 วันที่ 2 ต.ค.2567

เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 คณะกรมการแพทย์ จึงแต่งตั้งอนุกรรมการ ทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) จำนวน 29 คน 

รพ.เอกชน ชงการประชุมร่วม สำนักงานประกันสังคม สะท้อนปัญหาเรื่องต้นทุน รพ.เอกชน ชงการประชุมร่วม สำนักงานประกันสังคม สะท้อนปัญหาเรื่องต้นทุน

โดยให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 

  1. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับสถานะสุขภาพ การเจ็บป่วย การใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนและการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล
  2. ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลในการให้บริการทางการแพทย์
  3. จัดทำหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์
  4. ดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 ให้อนุกรรมการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่ลงนามในคำสั่งนี้
  5. ปฏิบัติน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการการแพทย์มอบหมาย

คงค่าใช้จ่ายไว้ 12,000 บาทต่อหน่วย Adjusted RW

ขณะที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ ได้การันตีค่าใช้จ่ายสำหรับค่ารักษากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 12,000 บาททั้งปี แต่ในช่วงโควิด ปรากฏว่ามีโรงพยาบาลเบิกจ่ายค่อนข้างมาก ทำให้เงินกองทุนลดลง ช่วงปลายปี 2566 เดือน ต.ค.-ธ.ค. จึงปรับลดเหลือ 7,000 พันบาท 

ในกรรณีที่ทางสมาคม รพ.เอกชน ได้ขอปรับเพิ่มเป็น 15,000 บาท ก็ให้เป็นตัวเลข 12,000 บาทตลอดทั้งปีไปก่อน แต่เพื่อประโยชน์ในการจ่ายค่าบริการทางการแทพย์ที่เป็นธรรม เท่าเทียม ทั้งรัฐและเอกชน จึงได้ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจมาพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 90 วัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงว่าอัตราการจ่ายในปัจจุบันนั้นเพียงพอ เป็นธรรม เหมาะสมหรือไม่

"ขออย่านำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เนื่องจากเวลาที่ผู้ประกันตนไปรักษาโรคร้ายแรงนั้น ทางประกันสังคมจ่ายให้ไม่อั้นอยู่แล้ว ไม่ได้หยุดแค่ 12,000 บาทเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้ 5 หมื่นบาท หรือหลักแสนบาท เช่น โรคมะเร็งก็ไม่ได้มีเพดานแต่ให้ตามที่ใช้จ่ายจริงซึ่งก็มีข้อแตกต่างกัน"