พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกกลุ่มอาชีพ ทุกเพศทุกวัย และพบมากขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยซึ่งมีแนวโน้มป่วยด้านสุขภาพจิตได้ง่าย จากสถิติของ BMHH โรงพยาบาลเฉพาะทางการดูแลเรื่องสุขภาพจิตและจิตเวช ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก พบปัญหาของคนไข้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า โรคซึมเศร้ามีสถิติสูงสุด จึงเป็นที่มาของการนำข้อมูลจากผู้เข้ามารับบริการ มาออกแบบศูนย์รักษาโรคซึมเศร้าแบบครบวงจร ด้วยการคุยกับคนไข้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ จนเริ่มออกแบบการรักษา รวมถึงติดตามอาการเป็นระยะจนกว่าจะรักษาหาย โดยเฉพาะการรักษาคนไข้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบกินยา
"การรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องใช้ยาเท่านั้น ยังมีวิธีบำบัด จิตบำบัด หลากหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละบุคคลว่าจะสบายใจและดีขึ้นด้วยวิธีไหน เช่น การใช้ศิลปะ ใช้ดนตรี ด้วยนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีล่าสุดคือการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทแล้วทำงานได้ดีขึ้น"
แพทย์หญิง ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า การรักษาโรคซึมเศร้าล่าสุดของ BMHH จะรักษาด้วย dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อกระตุ้นทำให้เกิดกระเเสประสาท ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมอง ช่วยปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติ และลดการเกิดอาการซึมเศร้าลงได้
วิธีนี้มีประโยชน์และช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการนำ dTMS มาใช้ จะใช้ร่วมกันกับวิธีรักษาด้วยการทำจิตบำบัดเเละกินยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรักษาให้ดีขึ้น ซึ่งก่อนการรักษาด้วย dTMS จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยก่อนทุกราย
แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ กล่าวว่า จากสถิติของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มกว่า 25% หรือมากถึง 1 ใน 4 ของประชากร ขณะเดียวกันสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง โดยมีปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในทุกปี และส่งผลต่อความต้องการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีมีประชากรไทยราว 1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คิดเป็น 2-3% ของประชากรทั้งหมด และจำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ซึ่งโรคซึมเศร้าไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา และผู้ป่วยบางรายไม่ยอมรับการรักษา เพราะกลัวการตีตรา หรือไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการรักษา
ฉะนั้น ผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้าควรตรวจโรคให้เร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยก่อนผู้ป่วยไปสู่จุดวิกฤต หรือ ก่อนเริ่มทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะจิตแพทย์และนักบำบัดจิต เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะบุคคล ตามสภาพที่แตกต่างกันไป