THG ปิดไตรมาส 3 รายได้ 2,526 ล้าน ขาดทุน 352 ล้าน

14 พ.ย. 2567 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2567 | 05:14 น.

THG เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 รายได้ 2,526 ล้านบาท ขาดทุน 352 ล้านบาท จากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายไม่ได้จากหน่วยงานรัฐ รายได้ รพ.ธนบุรี บำรุงเมืองไม่เข้าเป้า รวมถึงมีการปรับโครงสร้างการเงิน

นายณฐรักษ์ แสนชุ่ม รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG  เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2567 ของ THG มีรายได้รวม 2,526 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองที่ปรับตัวลง 51.9%

หากรายได้จากธุรกิจอื่นยังเติบโตตามแผน อาทิ รายได้จากการเปิดร้านขายยาทีเอช เฮลท์ รวมถึงยอดโอนห้องในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ที่มีเพิ่มเข้ามาในไตรมาสนี้ ขณะที่ ARYU International Hospital ในเมียนมาก็ยังเติบโต แต่ด้วยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการปรับยอดจากสินค้าคงเหลือทำให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าน้อยลงในไตรมาสนี้

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นรายการพิเศษโดยส่วนใหญ่เป็นการตั้งสำรองสำหรับรายได้ที่คาดว่าจะไม่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐในการให้บริการ UCEP COVID จำนวน 284 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นชั่วคราว เมื่อรวมกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย

ประกอบกับ THG มีการปรับโครงสร้างทางการเงินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีการเสนอขายหุ้นกู้เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินและโอกาสทำกำไรในอนาคต ส่งผลให้ไตรมาส 3 ปี 2567 THG มีผลขาดทุนสำหรับบริษัทใหญ่ จำนวน 352 ล้านบาท

ณฐรักษ์ แสนชุ่ม

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2567 ของ THG มีรายได้รวม 7,225 ล้านบาท มีผลขาดทุนสำหรับบริษัทใหญ่ 303 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากไม่รวมรายการพิเศษ THG จะมีกำไรสุทธิบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 83 ล้านบาท

“การชะลอตัวของรายได้ THG ในไตรมาสนี้ คาดจะเป็นการปรับฐานทางการเงินที่เกิดขึ้นชั่วคราวระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัทฯ แต่ด้วยศักยภาพพื้นฐานของธุรกิจโรงพยาบาลในกลุ่ม THG ที่แข็งแกร่งมายาวนาน หลายแห่งมีการเตรียมขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเพิ่มซึ่งใกล้แล้วเสร็จพร้อมเปิดในช่วงต้นปี 2568

ทั้งโรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา และโรงพยาบาลธนบุรี ราษฎร์ยินดี รวมถึงมีการเปิดศูนย์เฉพาะทางเพื่อรองรับการรักษาโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างการบริหารก็มีการนำผู้เชี่ยวชาญมาเสริมทัพในทุกมิติ จึงเชื่อได้ว่า THG ยังมีขีดความสามารถในการเติบโตได้อีกมากและจะทยอยมีข่าวดีตามมา อาทิ

บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG

ศูนย์ BeWell Health and Wellness Clinic ซึ่งให้บริการตรวจสุขภาพเชิงลึกเฉพาะบุคคลแบบครบวงจรแห่งแรกของเวียดนามในนครโฮจิมินห์ ที่พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2568 ขณะที่ โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้านหลังโครงการสมบูรณ์มากขึ้น”