ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่รายได้เติบโตขึ้นจากลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่ม ส่งผลต่อเนื่องมายังไตรมาส 4 ถือเป็นสัญญาณดี แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับการประมาณการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่วิเคราะห์ว่า รายได้คนไข้ต่างชาติรวมของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราว 8 -10% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2565-2566 ที่ขยายตัวได้ดี ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และจำนวนคนไข้ต่างชาติ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)และบริษัทย่อย หรือ BDMS ผู้ให้บริการด้านสุขภาพเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งสิ้น 58 แห่ง ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาล 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ 2.กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช 3.โรงพยาบาลบี เอ็น เอช 4.กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท 5.กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และ 6.กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล
พบว่าไตรมาส 3/2567 มีรายได้รวม 28,536 ล้านบาท เติบโต 7% ปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 6% โดยฐานผู้ป่วยชาวต่างชาติ ที่สำคัญได้แก่ การ์ตา 47% จีน 32% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 29% มีกำไร 4,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ขณะที่ 9 เดือน ปี 2567 มีรายได้รวม 81,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
แม้จะมีการเติบโตแต่ BDMS ก็ยังขยายการลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ล่าสุดยัง MOU กับ MEDSI Group ผู้ให้บริการด้านสุขภาพรายใหญ่ในประเทศรัสเซีย เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการแพทย์ การให้บริการคำปรึกษาทางไกล การดูแลต่อเนื่องและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงระหว่างสองประเทศ สำหรับผู้ป่วยชาวรัสเซียทั้งที่พำนักในประเทศไทยและเมื่อกลับไปรัสเซียด้วย
ด้านบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ในไตรมาส 3/2567 มีรายได้รวม 3,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% กำไรสุทธิ 453.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นทั้งในศูนย์การแพทย์ของโรงพยาบาลในเครือ รวมทั้งศูนยผิวพรรณและศัลยกรรมตกแต่ง เกษมราษฎร์ พลาสติก เซอร์เจอร์รี่ (KPS) ประกอบกับรายได้จากผู้ป่วยในโครงการประกันสังคมเพิ่มขึ้น 11.9 % ผลการดำเนินงาน 9 เดือน มีรายได้รวม 9,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% กำไร 1,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2%
อย่างไรก็ดีแนวโน้มผลประกอบการของ BCH ยังเติบโตต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการจากโรคตามฤดูกาล และผู้ป่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่มผู้ป่วยข้าราชการ และการขยายการลงทุนไม่ว่าจะเป็น รถทันตกรรมที่เพิ่มขึ้นอีก 3 คัน ตลอดจนการร่วม MOU กับสมาคมแพทย์ศัลยกรรมเกาหลี ให้บริการศูนย์ผิวพรรณ และศัลยกรรมตกแต่ง “เกษมราษฏร์ พลาสติก เซอร์เจอร์รี่” เป็นต้น
อีกกลุ่มที่ทำผลงานในไตรมาส 3/2567 ได้อย่างโดดเด่น คือ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” ที่พบว่า ผลประกอบการในไตรมาส 3/2567 มีรายได้รวม 1,618.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% กำไรรวม 748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น9.6% ทำให้ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 PRINC มีรายได้รวม 4,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6% กำไรรวม 557.5 ล้านบาท เทียบกับช่วง 9 เดือนของปี 2566 ที่ผลประกอบการยังติดลบ โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลและเฮลท์แคร์ รายได้จากผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นทั้ง IPD และ OPD ทุกกลุ่มผู้รับบริการ ทั้งยังเป็นผลจากการลงทุนขยายศูนย์เฉพาะทางให้บริการรักษาโรคยากซับซ้อนเพิ่มขึ้น
โดย นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ และรองประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ว่าผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องว่า เกิดจากแนวโน้มจำนวนผู้ป่วย OPD และ IPD ที่เข้ารับบริการรักษาพยาบาลศูนย์แพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อผลการดำเนินงานของ PRINC ในไตรมาส 4 ด้วย โดยรพ.เองมุ่งเน้นการขยายเครือข่าย รพ. เพิ่มพื้นที่การให้บริการให้แก่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ เช่น การสร้าง รพ. ในเมืองรองเพิ่มขึ้น ซึ่งจุดแข็งของ PRINC คือความโดดเด่นทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริหารรพ.ในรูปแบบเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นใจปีนี้ว่าจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับแผนการลงทุนของ PRINC คือ การขยายเตียงรองรับผู้ป่วยให้เพิ่มขึ้น 13-15% จากปัจจุบันที่มีเตียงรวม 1,250 เตียง รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพ การให้บริการดูแลรักษาโรคยากซับซ้อน เช่น ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ, รพ.พริ้นซ์ มุกดาหาร และ รพ. พริ้นซ์ ปากน้ำโพ ที่เพิ่มศักยภาพศูนย์เฉพาะทางโรคหัวใจ Cardiac Catheterization Lab (Cath Lab) ทั้งหมดเตรียมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม นี้ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการให้บริการของโรงพยาบาล เช่น สถานดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจคลินิกเสริมความงาม ธุรกิจฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วย และธุรกิจอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายณฐรักษ์ แสนชุ่ม รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ในไตรมาส 3/2567 THG มีรายได้รวม 2,526 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ปรับตัวลง 51.9% แต่รายได้จากธุรกิจอื่นยังเติบโตตามแผน รวมถึงยอดโอนห้องในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ที่มีเพิ่มเข้ามาในไตรมาสนี้ ขณะที่ ARYU International Hospital ในเมียนมาก็ยังเติบโต แต่ด้วยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการปรับยอดจากสินค้าคงเหลือทำให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าน้อยลง
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2567 ของ THG มีรายได้รวม 7,225 ล้านบาท มีผลขาดทุนสำหรับบริษัทใหญ่ 303 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากไม่รวมรายการพิเศษ THG จะมีกำไรสุทธิบริษัทใหญ่ อยู่ที่ 83 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม THG เตรียมขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเพิ่มซึ่งใกล้แล้วเสร็จพร้อมเปิดในช่วงต้นปี 2568 ทั้งโรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา และโรงพยาบาลธนบุรี ราษฎร์ยินดี รวมถึงเปิดศูนย์เฉพาะทางเพื่อรองรับการรักษาโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี THG มุ่งเน้นการขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้ารับบริการ ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมเปิดพื้นที่ใหม่ในรพ.ธนบุรี, รพ.ธนบุรี ทวีวัฒนา, รพ.ธนบุรี ราษฏร์ยินดี เพื่อขยายศักยภาพและการเปิดศูนย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับการรักษาโรคที่ซับซ้อนด้วย