แนวโน้มธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยที่เติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณบวกถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของคนไทย ทั้งการใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่สูงขึ้นจากการรักษาพยาบาล การป้องกัน และการเฝ้าระวัง รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ทำให้ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์เองต้องเร่งปรับตัว ให้สอดรับกับดีมานด์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและให้บริการ
นพ. กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรงพยาบาลได้ริเริ่มการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการริเริ่มใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ภาพถ่าย X-rays ปัจจุบันยังไม่ได้ใช้แบบเต็มรูปแบบ แต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาและเป็นอีกเครื่องมือช่วยในการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้โรงพยาบาลยังได้นำ AI มาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ EMRs ซึ่งรวมไปถึงการยกระดับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เป็นส่วนสำคัญในการดูแลข้อมูลของผู้รับบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2568 โรงพยาบาลมีนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนและพัฒนากับบริษัทที่มีศักยภาพในด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาระบบการเบิกจ่าย ทั้งในส่วนของภาครัฐและการประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลได้อย่างแม่นยำ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีแผนการนำระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-powered Clinical Decision Support System: CDS) มาประยุกต์ใช้ภายในเครือโรงพยาบาล เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัยและวางแนวทางในการรักษาโรค รวมถึงการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการให้บริการตอบคำถามและดูแลผู้รับบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ด้าน แพทย์หญิงณัฐธิดา แสงปราสาท ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุตเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ตั้งแต่โรงพยาบาลเปิดทำการเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เพื่ออ่านผลเอ็กซเรย์หรือวิเคราะห์โรคต่างๆ ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งช่วยในการหาจุดบกพร่องของโรคและช่วยให้แพทย์อ่านผลได้แม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่บริหารจัดการภายในโรงพยาบาลก็เริ่มนำ AI มาใช้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา
การใช้เทคโนโลยี AI ของโรงพยาบาลโรงพยาบาลวิมุตในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ยังไม่พบอุปสรรคและปัญหาอะไร แต่การใช้ AI ไม่สามารถประเมินผลได้แม่นยำ 100% ทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำในเบื้องต้นเท่านั้น ทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนยังต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเป็นหลัก
“เรียกได้ว่า AI ช่วยให้การตรวจคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาในการตรวจรักษา ตรวจได้เยอะ ตรวจได้มากกว่าการตรวจแบบแมนนวลโดยคุณหมอเพียงอย่างเดียว คัดกรองคนไข้ก่อนส่งคนไข้ก่อนมือแพทย์เพื่อทำการรักษาง่ายขึ้น แต่ AI ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคหรือวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้ได้ และส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในกลุ่มการอ่านผลเอ็กซเรย์ การทำแบบประเมินเพื่อคัดกรองคนไข้ เกี่ยวกับลักษณะอาการว่าควรจะเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางในแผนกไหน”
แพทย์หญิงณัฐธิดา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลวิมุตถือว่ามีสถิติการพัฒนาและการใช้ AI ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลชั้นนำอื่นๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เข้าถึงการดูและสุขภาพของผู้คนได้ในเบื้องต้น อย่างคัดกรองคนไข้ในระดับ เขียว เหลือง แดง ก็ช่วยส่งคนไข้เข้าห้องฉุกเฉินได้ทันการณ์ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นไปตามที่คาดหวัง
ล่าสุดโรงพยาบาลวิมุตได้ร่วมมือกับ Agnos Health บริษัทสตาร์ทอัป, โรงพยาบาลในเครือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) และ สถาบันประสาทวิทยา (Neurological Institute of Thailand) พัฒนา ‘AN AN Bot’ ที่เป็น AI medical chatbot เชื่อมต่อกับระบบแชทช่องทาง ทั้ง LINE OA, Facebook messenger, หรือ แอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งจะเชื่อมกับระบบฐานข้อมูลเฉพาะของโรงพยาบาล เพื่อตอบคำถามผู้รับบริการ อาทิ เช่น ข้อมูลแพทย์ และตารางออกตรวจแพทย์ ข้อมูลทั่วไปก่อนการเข้ารับบริการ ข้อมูลแผนกตรวจ ข้อมูลก่อนการเข้ารักษา สามารถช่วย ทำนัดหมาย ช่วยคัดกรองอาการเบื้องต้น โดยเริ่มใช้แล้วในปี 2567
“AI ถือปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องมีฐานข้อมูลสนับสนุน มนุษย์ยังต้องป้อนให้ข้อมูลให้กับ AI และในธุรกิจเฮลท์แคร์ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนบุคลากรที่เป็นมนุษย์ได้ ดังนั้นข้อมูลจากการใช้งานจะต้องนำไปพัฒนาต่อในอนาคต โดยในปี 2568 ก็จะเห็นภาพของโรงพยาบาลวิมุตนำเทคโนโลยี AI มาใช้มากขึ้น และลงทุนในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีก”
ขณะที่ ดร. พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้โรงพยาบาลในเครือ BDMS ทั้ง 59 แห่งมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงแล้ว เช่น Perceptra ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อ่านผลเอกซเรย์สำหรับผู้ช่วยรังสีแพทย์, CARIVA ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล ซึ่งการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้งานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้กับแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดย AI สามารถพัฒนาต่อยอดกับกระบวนการตรวจสุขภาพและปรับใช้กับแนวทางค้นหาเชิงป้องกันกับคนสุขภาพดี เป็นอีกหนึ่งในโครงการ Sandbox ของ BDMS ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ด้วยการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่ 1.ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการคัดกรองและวินิจฉัยโรค 2.การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มความแม่นยำ 3.เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ 4.เทคโนโลยีเพื่อการติดตามผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และ 5.เทคโนโลยีเพื่อการบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน
นพ.นภดล ใยบัวเทศ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า การพัฒนาวิธีการกษาภาวะมีบุตรยาก ก็สามาาถนำนวัตกรรมมาปรับใช้ได้ อย่างการการใช้ AI ในการตรวจน้ำเชื้อ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการประเมินคุณภาพของน้ำเชื้อ รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนได้ในเวลารวดเร็ว ซึ่ง AI จะทำหน้าที่เหมือนกับนักวิเคราะห์ดิจิทัล เรียนรู้จากข้อมูลหลายพันรายการในอดีต และพัฒนาขึ้นมาเพื่อประเมินคุณภาพของสเปิร์มได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถนับจำนวนสเปิร์มต่อมิลลิลิตรของน้ำอสุจิได้