ระวัง "โรคหัวใจ" ในสุนัข ภาวะเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต

29 พ.ย. 2567 | 22:30 น.

รพ.สัตว์อารักษ์ เปิดสถิติโรคหัวใจในสุนัข ภัยเงียบที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิต เจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการ พาสุนัขตรวจประเมินสุขภาพเพื่อความปลอดภัย

ข้อมูลจากโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ เผยว่า 10% ของจำนวนสุนัขที่มาโรงพยาบาลพบปัญหาโรคหัวใจ และพบว่าในสุนัขอายุมาก มีปัญหาโรคหัวใจจากความเสื่อมถึง 60% ที่มักพบได้บ่อยคือ โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Myxomatous mitral valve disease, MMVD) โดยพบประมาณ 75% ของสุนัขที่เป็นโรคหัวใจ รองลงมา ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขยาย (Dilated cardiomyopathy, DCM) ซึ่งโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่จะแสดงอาการเมื่อโรคมีการพัฒนามากขึ้น 

นับเป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและถึงแก่ชีวิตได้ เจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการและพาสุนัขเข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพ และตรวจหัวใจประจำปี เพราะจะช่วยให้สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และวางแผนหาแนวทางการดูแลรักษาได้ เพิ่มทางเลือกในการรักษานอกจากทางยา เช่น การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ หรือการผ่าตัดแก้ไขกรณีเป็นโรคหัวใจมาแต่กำเนิด เพื่อช่วยลดภาระค่ายารักษาซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ระวัง \"โรคหัวใจ\" ในสุนัข ภาวะเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต

สพ.ญ.ทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยในสุนัข ส่วนใหญ่รักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลักและต้องรับยาไปตลอดชีวิต และปัจจุบันหลายประเทศเริ่มใช้การผ่าตัดในการรักษาโรคหัวใจบางประเภท อาทิ การซ่อมลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วในสุนัขกันมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงและความชำนาญ 

ทั้งนี้ โรคหัวใจในสุนัข มีทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิดจากพันธุกรรม และเกิดขึ้นภายหลังจากความเสื่อมของร่างกาย โดยแบบหลังมักพบในกลุ่มสุนัขอายุ 7-8 ปีขึ้นไป หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน บีเกิล พุดเดิ้ล ดัชชุน มอลทีส บอสตัน เทอร์เรียร์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ โดเบอร์แมน และค็อกเกอร์ สแปเนียล เป็นต้น

สพ.ญ.ทัศวรินทร์ กล่าวว่า แม้โรคหัวใจในสุนัขจะเป็นโรคที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง แต่หากตรวจพบได้เร็ว และได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะสามารถชะลอความรุนแรงของโรค ทำให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตดีและมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น และนอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว สุนัขสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยง หรือสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 7 – 8 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจสุขภาพหัวใจ (Heart Check Up) ร่วมด้วยโดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ

ระวัง \"โรคหัวใจ\" ในสุนัข ภาวะเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต

หากต้องการความชัดเจนของโครงสร้างหัวใจมากยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีความผิดปกติโดยกำเนิดอย่างภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent ductus arteriosus, PDA) หรือการตรวจก่อนการผ่าตัด ก็สามารถตรวจหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) ได้ ที่สำคัญเจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง หากมีอาการไอ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ทำกิจกรรมน้อยลง ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด หรืออาเจียน อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์โดยเร็ว

โดยสัตวแพทย์จะวินิจฉัยหลายวิธีร่วมกัน ทั้งการฟังเสียงหัวใจ และการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์อย่างการถ่ายภาพเอกซเรย์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงเครื่อง 3D Echocardiogram สำหรับการตรวจอัลตราซาวน์หัวใจแบบ 3 มิติที่จะช่วยให้เห็นภาพโครงสร้างหัวใจได้อย่างชัดเจน เพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยและยังใช้ในการพิจารณาเคสที่สามารถรักษาด้วยแนวทางอื่นนอกจากการใช้ยาได้ สามารถทราบผลการตรวจสุขภาพหัวใจได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง 

การตรวจเจอโรคในเริ่มต้น 

เมื่อตรวจพบโรคอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา เพียงดูแลควบคุมไลฟ์สไตล์และสิ่งแวดล้อม ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ด้วยการดูแลเรื่องอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ หรือหากตรวจเจอในระยะที่ต้องรักษาด้วยยาแล้ว การดูแลไลฟ์สไตล์และสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตก็สามารถช่วยลดการใช้ยาได้

นอกจากนี้ โรคหัวใจบางประเภทยังมีทางเลือกการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งไม่เพียงมีแนวโน้มที่จะทำให้สุนัขหายจากโรคหัวใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายหรืออาจช่วยจบวงจรค่าใช้จ่ายยารักษาที่เจ้าของต้องจ่ายในทุกเดือนได้ด้วย  

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 5,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ไปจนตลอดชีวิตของสัตว์เลี้ยง ส่วนการผ่าตัดจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ช่วยให้เจ้าของสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว ในประเทศไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่เป็นทางเลือกการรักษาที่หลายประเทศเริ่มหันมาทำกันมากขึ้น เนื่องจากการผ่าตัดมีแนวโน้มจะช่วยให้สุนัขหายหรือดีขึ้นจากโรคได้ 

ระวัง \"โรคหัวใจ\" ในสุนัข ภาวะเฉียบพลันอันตรายถึงชีวิต

“ในโรงพยาบาลอารักษ์ เรามุ่งดำเนินการภายใต้แนวคิด Pet Humanization เป็นผู้นำด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร ตั้งเป้าเราจึงลงทุนด้านเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัยและครบครัน พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ด้านโรคหัวใจที่มีประสบการณ์ ให้ศูนย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย วางแผนหาแนวทางและทางเลือกการรักษาโรคหัวใจ ตอบโจทย์กลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์เสมือนลูกหรือคนในครอบครัว 

รวมถึงลงทุนในเครื่องมือการแพทย์เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับการรักษาของคน ซึ่งจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ลงลึกมากขึ้น ช่วยเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการรักษาให้กับเจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้” สพ.ญ.ทัศวรินทร์ กล่าว