เงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน “ทาสแมว-หมา” ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตก้าวกระโดด

14 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

ตลาดสัตว์เลี้ยงเงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน ชี้ Pet Humanization ปลุกธุรกิจสินค้า-บริการคึกคัก ทั้งรพ.สัตว์ คลินิกสัตว์ โรงแรมสัตว์ อุปกรณ์-ของเล่น รับอาบน้ำ ดันยอดใช้จ่ายสูงแตะ 4.1 หมื่นบาทต่อตัวต่อปี สูงกว่าปกติ 5 เท่า ตัว จับตาบิ๊กเนม“ทองหล่อ-อารักษ์”แห่สยายปีกสาขาเพิ่ม

ข้อมูลจาก ttb analytics คาดการณ์ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยปี 2567 จะมีมูลค่าสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 12.4% เมื่อเทียบกับปี 2566 สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยผู้เลี้ยงในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “Pet Humanization” ทำให้เกิดแนวคิด “Petriarchy” ที่มองสัตว์เลี้ยงเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และปรากฏการณ์ “Pet Celebrity” ที่สัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมและมีอิทธิพลในสังคมมากขึ้น

เงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน “ทาสแมว-หมา” ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตก้าวกระโดด

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉลี่ยแล้ว เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องใช้จ่ายราว 41,100 บาทต่อตัวต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงแบบปล่อยอิสระถึง 5 เท่า ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 7,745 บาทต่อตัวต่อปี

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันพร้อมที่จะลงทุนกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารที่มีคุณภาพสูง ค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุม ค่าอุปกรณ์และของเล่น รวมถึงค่าบริการเสริมต่างๆ เช่น การฝึกสัตว์เลี้ยง การทำความสะอาด และการทำประกันสุขภาพ

นางสาวมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านนวัตกรรมอาหาร สถาบันอาหาร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยง ได้แก่

  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร สังคมไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้นและหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเพื่อน
  • การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ ผู้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและความสุขของตนเองและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
  • เทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีทำให้มีผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น และ
  • การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง เช่น ร้านอาหารสัตว์เลี้ยง โรงแรมสัตว์ คลินิกสัตว์ และร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการได้ง่ายขึ้น

จากการศึกษาพบว่าตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับแมวในประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 63% โดยสินค้าประเภทอาหาร ขนม ทราย และห้องน้ำแมวได้รับความนิยมอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของแมวได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 31% แม้จะน้อยกว่าแมวก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดนี้ ได้แก่ ตลาดสินค้าสำหรับสุนัขมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีทั้งอาหารหลากหลายสูตร อาหารเสริม อุปกรณ์ต่างๆ

เงินสะพัด 7.5 หมื่นล้าน “ทาสแมว-หมา” ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตก้าวกระโดด

รวมถึงบริการเสริม เช่น โรงแรมสัตว์เลี้ยง และร้านตัดขน เป็นต้น และอีก 6% เป็นตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงประเภท Exotic ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงที่ผู้คนนิยมเลี้ยง และความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ด้านสัตวแพทย์หญิง กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยปกติจะมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี แต่ในช่วงเกิดโควิด-19 มีการเติบโตสูงขึ้น 12-13% ต่อปี และสูงถึง 16% ในปี 2565 หลังจากนั้นการเติบโตจึงเริ่มลดลงเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 เติบโต 10% ล่าสุดในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 7-9%

ขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนสัตว์เลี้ยงประมาณ 20 ล้านตัวแบ่งเป็นสุนัข 12 ล้านตัวและแมว 8 ล้านตัว ในปี 2567 มีการเติบโต 6-9% และมีโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงอยู่ประมาณ 3,500 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 80% โรงพยาบาลขนาดกลาง 15% โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 5%

สัตวแพทย์หญิง กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล

ทั้งนี้โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีแผนขยายธุรกิจในเชิง portfolio management ที่มีทั้ง Pet hospital และ Pet well-being ซึ่งขยายไปถึงธุรกิจสินค้าสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ บริการเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง ควบคู่ไปกับการจับมือกับพันธมิตรต่าง ๆ

ทั้งโรงพยาบาลสัตว์ด้วยกันเองและกลุ่มธุรกิจอื่น เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในการดูแลสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง พร้อมยกระดับวงการวิชาชีพสัตวแพทย์ เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

ขณะที่สัตวแพทย์หญิงทัศวรินทร์ กาญจนฉายา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์กล่าวว่า การเติบโตของตลาดโรงพยาบาลสัตว์ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 มีการเปิดโรงพยาบาลสัตว์และคลินิกสัตว์ใหม่ 600-700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของตลาดนี้

สัตวแพทย์หญิงทัศวรินทร์ กาญจนฉายา

ทำให้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่องโดยล่าสุดทุ่มงบกว่า 160 ล้านบาท เปิดให้บริการโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ สาขาทองหล่อเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากก่อนหน้าที่ครึ่งปีแรกมีการขยายสาขาใหม่ที่เชียงใหม่และภูเก็ต และในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในเขตกทม. ด้วย

“แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยยังคงเติบโต เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้คนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นและมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว”

ด้านนายพรชัย ตติยชัยทวีสุข ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการพาณิชย์ บริษัทไอ-เทล คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางอาหารสัตว์ในครึ่งปีแรกมีการเติบโตราว 30% มาจากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกของผู้บริโภค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 และยังคงเติบโตต่อเนื่อง

นายพรชัย ตติยชัยทวีสุข

โดยในปีนี้บริษัทใช้งบลงทุน 2,100 ล้านบาท เน้นทำระบบ Automation (ใช้เทคโนโลยีให้ทำงาน)ในการผลิต อีกทั้งรีแบรนด์ใหม่ครั้งใหญ่ซึ่งการรีแบรนด์ครั้งนี้ได้ใช้กลยุทธ์สร้างการรับรู้ผ่านพรีเซนเตอร์ ไดแก่ ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ และ มารี เบิร์นเนอร์เพื่อเอาใจ Pet Parents บรรดาเหล่าทาสแมวและสุนัขในประเทศไทย

 “ปัจจุบันเราเน้นการส่งออกเป็นหลักถึง98%ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยมี 3 ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดส่งออกทั้งหมด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่กล้าใช้จ่ายเงินกับสัตว์เลี้ยง แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีก็ตาม แต่การซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 ของตลาด

ล่าสุดบริษัทขยายการส่งออกไปยัง ประเทศบาห์เรน สำหรับแผนในอนาคต มุ่งเน้นไปที่ตลาดมุสลิม และซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และแคนาดา โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายเติบโต 15%”

จะเห็นได้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและน่าจับตามอง ผู้ประกอบการที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด จะสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในตลาดนี้ได้

หน้า 15 ฉบับ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567