ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน "30 บาทรักษาทุกที่" เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล
อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกของประชาชนในการเข้ารับบริการใกล้บ้าน ลดเวลาการเดินทางและลดค่าใช้จ่ายของประชาชนจนถึงวันนี้ได้ดำเนินการครอบคลุม 46 จังหวัดแล้วและเตรียมที่จะขยายครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
ปัจจุบันจากข้อมูล ณ 26 พ.ย. 2567 มีหน่วยบริการนวัตกรรมทั้งร้านยาและคลินิกเอกชนต่างๆ ร่วมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้วเป็นจำนวน 12,325 แห่ง
ที่ผ่านมาระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการนวัตกรรมตามอัตราที่ สปสช. กำหนดจ่ายและการโอนเงินค่าบริการภายใน 3 วันหลังส่งบันทึกการเบิกเป็นที่ยอมรับของหน่วยบริการนวัตกรรมทำให้มีหน่วยเอกชนสมัครเข้าร่วมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบการโอนจ่ายเงินทุก 3 วันดังกล่าวทำให้มีข้อมูลคงค้างสะสมจากการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทุกวัน
ดังนั้น ปีงบประมาณ 2568 สปสช. ได้ปรับเวลาการจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการนวัตกรรมเป็นการจ่ายทุกวันพุธแทนเพื่อให้มีระยะเวลาตรวจสอบได้ทัน และเพื่อให้การเบิกจ่ายที่ติดปัญหาถูกแก้ไขโดยเร็ว
สำหรับจุดเน้นของการขับเคลื่อนหน่วยบริการนวัตกรรมปี 2568 ยังคงเน้นสนับสนุนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ในรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มเติมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสุขภาพให้กับประชาชนโดยเน้นบริการเชิงรุกในชุมชน ในโรงเรียน บริการเคลื่อนที่และบริการการแพทย์ทางไกลผ่านตู้ห่วงใยและโทรศัพท์มือถือจากที่บ้าน
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของงบดำเนินการหน่วยบริการนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2568 สปสช.จัดสรรงบบริการ จำนวน 2,180.23 ล้านบาท เป็นค่าบริการสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้จัดสรรเป็นค่าบริการสำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมจำนวน 1,521.61 ล้านบาท
"งบประมาณที่จัดสรรเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ มุ่งเน้นการรองรับการเข้ารับบริการของประชาชนที่หน่วยบริการนวัตกรรม โดยคำนวณจากการเข้ารับบริการในปีที่ผ่านมาและกำหนดเป้าหมายกการเข้ารับบริการที่จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่า งบประมาณในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิบัตรทองใกล้บ้านได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา" ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว
นางปิยพร ปิยะจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กล่าวว่า สำหรับภาพรวมหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการของหน่วยบริการนวัตกรรมปี 2568 ที่มีการปรับเปลี่ยนนั้น เริ่มจากร้านยาจะมีเพิ่มการให้บริการโรคทั่วไป (Common Illnesses) จาก 16 กลุ่มอาการ เป็น 32 กลุ่มอาการ
ส่วนคลินิกพยาบาลได้เพิ่มรายการจ่ายบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ตามรายการบริการ (PP Fee schedule) และการคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ โดยระงับบริการเยี่ยมบ้านไว้ก่อนเพื่อรอการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ รวมทั้งยกเลิกการจ่าย PP Fee schedule รายการคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต
คลินิกเทคนิคการแพทย์และ Lab Anywhere เพิ่มรายการบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่เป็นการจ่ายตามรายการบริการ (PP Fee schedule) เช่น รายการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ ทั้งนี้ คลินิกพยาบาลและคลินิกเทคนิคการแพทย์จะมีการเพิ่มรายการ PP Fee schedule รายการการตรวจคัดกรองเอชไอวี และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV) เหมือนกับร้านยาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ซึ่งจะเพิ่มการให้บริการจาก 1 คน/ครั้ง/ปี เป็น 2 คน/ครั้ง/ปี รวมถึงการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายอื่นตามที่ สปสช. กำหนด นอกเหนือจากเดิมที่ทำเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขัง ทั้งหมดนี้เป็นการปรับการบริการในปี 2568 นี้