ข่าวดี สายแคมป์ สธ.พัฒนาตรวจเชื้อริกเก็ตเซียสาเหตุไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อน

03 ธ.ค. 2567 | 08:20 น.

กรมวิทย์ พัฒนาการตรวจเชื้อริกเก็ตเซีย สาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่ด้วยวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ มีความไวและความจำเพาะสูง รองรับตัวอย่างที่เพิ่มขึ้นเพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที พร้อมเปิดให้บริการปี 2568 แนะสายแคมป์ปิ้งระมัดระวังป้องกันตัวเองจากไรอ่อน

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ที่ชื่อ Orientia tsutsugamushi (อ่านว่า โอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ) ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำโรคและมีสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระจ้อน เป็นต้น เป็นแหล่งรังโรค

ตัวไรอ่อนจะชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะและพุ่มไม้เตี้ย ๆ จะกัดคนหรือสัตว์ เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยจะไต่ตามยอดหญ้าและกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าและกัดผิวหนัง

หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว บางรายมีต่อมน้ำเหลืองโตและการกดเจ็บ ผื่นแดง อาจพบแผลบุ๋มสีดำคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) ไม่เจ็บปวด

ส่วนใหญ่พบตามซอกขาหนีบ รักแร้ ราวนม และข้อพับ ในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ หรือบางราย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลว (Multiorgan Failure) และทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเชีย ด้วยเทคนิค Indirect Immunofluorescence Assay (IFA) 2 โรค ได้แก่

1. การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ O. tsutsugamushi

  • สาเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ชนิดสครับไทฟัส

2. การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ Rickettsia typhi

  • สาเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อริกเก็ตเชีย ชนิดมิวรีนไทฟัส

ทั้งนี้ มีข้อมูลตัวอย่างส่งตรวจในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567 จำนวนทั้งสิ้น 962 ตัวอย่าง เฉลี่ยประมาณ 80 ตัวอย่างต่อเดือน 

โดยมีตัวอย่างส่งตรวจมากที่สุด คือ ในเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 112 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 11.6 รองลงมา คือ เดือนกันยายน 2566 จำนวน 105 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 10.9 และเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 96 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 10 จากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในภาพรวมตลอดทั้งปี พบการติดเชื้อ O. tsutsugamushi สาเหตุของโรคสครับไทฟัส จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.72

ข่าวดี สายแคมป์ สธ.พัฒนาตรวจเชื้อริกเก็ตเซียสาเหตุไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อน

พบรายงานการติดเชื้อมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2566 เดือนละ 3 ตัวอย่าง รองลงมาคือเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 1 ตัวอย่าง ส่วนการติดเชื้อ R. typhi สาเหตุของโรคมิวรีนไทฟัส พบเพียง 1 ตัวอย่าง 

สำหรับสถานการณ์ของโรคสครับไทฟัสจะพบได้บ่อยกว่าโรคมิวรีนไทฟัส โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการท่องเที่ยวป่า ภูเขา และเป็นช่วงที่มีการกระจายของไรอ่อน ซึ่งเป็นพาหะของโรคตามพื้นที่ทางการเกษตรหรือปศุสัตว์

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการส่งตรวจที่ยังมีรายงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ห้องปฏิบัติการได้พัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย ด้วยวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ (real-time PCR) ซึ่งมีความไวและความจำเพาะสูง สามารถรู้ผลภายใน  5 ชั่วโมงหลังจากห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่างโดยพร้อมเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการและรองรับตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองการรักษาได้อย่างทันท่วงทีจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ 

คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวชอบตั้งแคมป์ กางเต็นท์ นอนในป่า

1. ระมัดระวังป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกไรอ่อนกัดโดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือแหล่งอาศัยของไรอ่อน เช่น ป่าละเมาะ พื้นที่เกษตรใกล้ป่า ทุ่งหญ้า พุ่มไม้ ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง เป็นต้น

2. หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้าให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแมลงที่มีส่วนผสมของสารไล่แมลง เช่น ไดเอทิลโทลูอะไมด์ (diethyltoluamide) หรือ ดีท (DEET) 20-30% อาจจะเป็นสเปรย์หรือโลชั่นที่สามารถทาที่ผิวหนังหรือเสื้อผ้าก็ได้ และไม่ควรนั่งหรือนอนลงพื้นดินหรือหญ้า

3. หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดเพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้

4. หากไปเที่ยวป่าเขากลับมาแล้วมีอาการไข้ หรืออาการเข้าได้กับโรคสครับไทฟัส ควรรีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว