เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

09 ม.ค. 2568 | 21:50 น.

เปิดยุทธศาสตร์ “โรช ไดแอกโนสติกส์” เดินหน้านำนวัตกรรม-เทคโนโลยีรุกตลาดเฮลท์แคร์ ชี้ศักยภาพ Healthcare System ไทยก้าวหน้าแซงประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แนะรัฐบาลเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษีเสริมแกร่งไทยสู่ Medical Hub

นายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ มีสำนักงานมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก รวมพนักงานกว่า 8.8 หมื่นคน (Pharma & Diagnostics) มาร์เก็ตแชร์ทั่วโลกและในประเทศไทยใกล้เคียงกันประมาณ 30-40% ถือเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ ยกตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

รวมทั้งการสร้างเวชภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ที่ถือเป็นจุดแข็งที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง มีระบบตรวจวินิจฉัยแบบคู่ขนานที่ใช้ทั้งยาและระบบดิจิทัล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหรือตัดสินใจรักษาผู้ป่วยได้แม่นยำมากขึ้น ตลอดจนนำอัลกอริทึมในห้องปฏิบัติการมาใช้ เพื่อให้ขบวนการรักษาของคนไข้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

อย่างไรก็ดี 4 ปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึงในระบบการตรวจรักษาและดูแลสุขภาพ คือ

1. Access การเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชน รวมทั้งโปรแกรมบริการตรวจสุขภาพฟรี

2. Government Policy นโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบสุขภาพ

3. Digital Health Solution ผ่านโทรศัพท์ โทรเวชกรรม (Telemedicine)

4. Public Awareness ผู้คนเริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพและเรื่องโรคมากขึ้นในปัจจุบัน รู้ถึงการตรวจโรคที่จะช่วยป้องกันโรคมากขึ้น

เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

“เราคาดการณ์ได้ว่าระยะเวลา 2-3 ปีในอนาคต จะเป็นโอกาสของ Digital Health Solution มากขึ้น เพราะในปัจจุบันเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมาก และโรชฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาระบบให้กับลูกค้า ช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆ บริหารจัดการการตรวจรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นสำหรับพยาธิแพทย์ หรือแพทย์ที่มีบทบาทด้านการวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพผ่านโทรศัพท์ ผ่านแอพพลิเคชั่น ส่งตรงข้อมูลถึงแพทย์ได้ทันที”

นอกจากนี้ ยังต้องตามเทรนด์ในอนาคตที่จะต้องเน้นเรื่องการดูแลรักษาเฉพาะบุคคลมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เช่น การนำข้อมูลการตรวจโรคของแต่ละบุคคลมาประเมินผล เพื่อบ่งบอกว่าควรจะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ชีวิตหรือดูแลรักษาร่างกายอย่างไร

พร้อมโปรแกรมประเมินความเสี่ยงสำหรับตรวจไลฟ์สไตล์ชีวิต การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก ควบคุมดูแลโรคต่างๆ โดยโรชฯ ได้ใช้เทคโนโลยีนำร่องดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่านระบบ Personalized Diabetes’s Management หรือ iPDM ระบบการจัดการภาวะเบาหวานแบบบูรณาการเฉพาะบุคคล ซึ่งใช้ได้จริงแล้วใน 5 จังหวัด ตามนโยบาย สปสช. ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก

เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

“เราไม่ได้เป็นเพียงบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำยาตรวจโรคหรือเครื่องมือแพทย์เพียงเท่านั้น แต่เป็นพาร์ตเนอร์ทำงานสอดคล้องไปกับการทำงานของหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการรักษาโรค NCDs ด้วยเทคโนโลยีและโปรดักส์ที่ดีที่สุดผ่านนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งการวางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วย GAAD score และ Tumor Board แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลผ่านออนไลน์เพื่อรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีแม้อยู่ไกลจากผู้ป่วย”

นายมิไฮ กล่าวว่า โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย มีพนักงานเกือบ 300 คน ได้ลงทุนเทรนนิ่งหรืออบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพให้กับพนักงาน (Professional Development) และนำเข้าผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเฮลท์แคร์จากต่างประเทศ สนับสนุนบุคลากรของโรงพยาบาลสำหรับใช้ระบบการแพทย์ในห้องแลป รวมถึงมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยตลาดในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ตลาดเครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3% ต่อปี แต่โรชฯ ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 จะเติบโตในธุรกิจประมาณ 7% มากกว่าการเติบโตของตลาดโดยรวม

อย่างไรก็ตาม โรช ไดแอกโนสติกส์ จะนำนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้าสู่ระบบตรวจสุขภาพของประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นการตรวจโรคแบบปฐมภูมิซึ่งเป็นด่านแรกของระบบสุขภาพของไทย ด้วยทีมแพทย์ให้บริการในพื้นที่หรือชุมชนนั้นๆ (Primary Care) ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลประจำตำบล กระจายไปสู่ชุมชน ขับเคลื่อนเทรนด์ธุรกิจเฮลท์แคร์ในปี 2568 ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้นและลดใช้การคนให้น้อยลง

เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

นายมิไฮ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ของตลาดเฮลท์แคร์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพและหันมาสนใจการตรวจร่างกายเพิ่มขึ้น (Health Checkup) ส่งผลให้ธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจโรค กลุ่มผลิตภัณฑ์การตรวจวินิจฉัยภายนอก หรือ IVD (In Vitro Diagnostic) เติบโตขึ้น

โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ

1. ความต้องการตรวจโรคสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ไปจนถึงโรคมะเร็งและโรคอัลไซเมอร์

2. ความต้องการบริการในธุรกิจเฮลท์แคร์เพิ่มขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์การแพทย์ต่างๆ

3. รัฐบาลทั่วโลกเริ่มหันมาลงทุนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ลงทุนถึง 20% ของจีดีพี, ยุโรปลงทุนประมาณ 7-10% ของจีดีพี, ประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยลงทุนเฉลี่ยประมาณ 5% ของจีดีพี

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนทางด้านระบบสุขภาพค่อนข้างสูงและให้ความสำคัญกับธุรกิจสุขภาพพอสมควร ภาพรวมธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพได้มากขึ้น มีโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรค NCDs ตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับประชาชนที่มีสิทธิ์อยู่ในระบบสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งโรคเหล่านี้หากรู้เร็ว รู้ก่อน สามารถป้องกันการป่วยหนัก ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพได้

เปิดแนวรบ “โรชฯ” รุกเฮลท์แคร์ไทย นำเทคโนโลยี เสริมศักยภาพการวินิจฉัย-รักษา

จะเห็นได้ว่าระบบสุขภาพหรือ Healthcare System ของประเทศไทยก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่กลับเทียบกับประเทศสิงคโปร์ได้ยาก เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองขนาดเล็ก สามารถวางระบบการจัดการได้ง่ายกว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองใหญ่ และธุรกิจเฮลท์แคร์ประเทศไทยไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี น้อยกว่าประเทศเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า 20% ต่อปี เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจด้านการลงทุนของเวียดนามจะทำได้อย่างเร็วผ่านรัฐบาลกลางโดยตรง

ในภาพรวมตลาดเฮลท์แคร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความแข้มแข็งมาก มีศักยภาพสูง มีโรงเรียนแพทย์และระบบการศึกษาที่ดีมาก แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องโฟกัสการเป็น Digitization ของธุรกิจเฮลท์แคร์ในโรงพยาบาลต่างๆ

เพื่อให้เกิดการลงทุนในระบบดิจิทัล รวมถึงเรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษีในการลงทุนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณาเป็นหลัก เพราะในสิงคโปร์มีสิทธิพิเศษด้านภาษีที่ดึงดูดนักลงทุนมากกว่าไทย อาจมองได้ว่านโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันไทยให้เป็น Medical Hub รองรับศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้ในอนาคตอันใกล้”