ในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 ธันวาคมนี้ นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยถึงการดูแลผู้สูงอายุว่า เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษประกอบกับผู้สูงอายุมักจะมีโรคประจำตัว กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งมีอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
จากปัญหาสุขภาพทางกาย เช่น อาการปวดเมื่อย นอนไม่หลับ ท้องอืด ท้องผูก ผิวหนังแห้ง อาการคัน อักเสบ และปัญหาสุขภาพทางจิตใจ เช่น หงุดหงิด ซึมเศร้า หลงลืม การใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถทำได้โดย ใช้ศาสตร์องค์รวม หรือ หลักธรรมานามัย ประกอบด้วย การดูแลสุขภาพ 3 องค์ประกอบ ดังนี้
1. กายานามัย คือ การมีสุขภาพกายที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การทำท่ากายบริหาร หรือการออกกำลังกาย เช่น การทำท่าบริหารฤๅษีดัดตน การเล่นโยคะ หรือกิจกรรมกีฬาที่เหมาะสม
2. จิตตานามัย คือ การมีสุขภาพใจที่ดี การส่งเสริมและดูแลสุขภาพทางใจ เช่น การทำสมาธิ สวดมนต์และภาวนา ซึ่งช่วยให้จิตใจเกิดความสงบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด
3. ชีวิตานามัย คือ มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี เช่น การอยู่ในสถานที่ที่สะอาด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงการนำสมุนไพรในกลุ่มที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมาปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เมนูมะระขี้นกผัดไข่ ปลานึ่งมะนาวใส่กระเทียม แกงเลียงใส่ตำลึง ต้มจืดมะระขี้นกยัดไส้ น้ำขิง น้ำบัวบก น้ำตะไคร้ ชาใบหม่อน
นอกจากนี้ลูกหลานต้องเพิ่มความใกล้ชิด ใส่ใจดูแล การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง สังเกตอาการของผู้สูงอายุ หากพบสิ่งผิดปกติต้องพาไปพบแพทย์ในทันทีและควรระมัดระวังในการลื่น หกล้ม ในกลุ่มผู้สูงอายุ
ด้านนายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ทางเลือกในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การออกกำลังกายฤๅษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายโดยการเคลื่อนไหวอย่างช้าควบคู่กับการหายใจเข้า - ออก เป็นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย มีประโยชน์ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด ทำให้ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง
ท่าที่ 1 นวดกล้ามเนื้อบนใบหน้า
ท่าที่ 2 แก้ลมข้อมือ
ท่าที่ 3 แก้ปวดท้องและข้อเข่า แก้ลมปวดศีรษะ
ท่าที่ 4 แก้ลมเจ็บศีรษะและตามัว และแก้เกียจ
ท่าที่ 5 แก้แขนขัดและขัดแขน
ท่าที่ 6 แก้กล่อนและเข่าขัด ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยสามารถดูคลิปการออกกำลังกายฤๅษีดัดตนได้ที่ YouTube กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
เมื่อมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ลมจุกแน่นในอก แนะนำ ตำรับยาหอมนวโกฐ นำมาละลายกับน้ำอุ่น รับประทานเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการปวดเมื่อย หรือกล้ามเนื้อตึง ช่วยลดอาการเจ็บปวด เช่น ปวดหลัง ปวดขา หรือคอบ่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ลดความเครียด แต่ต้องระมัดระวังและควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหากมีปัญหาเรื่องโครงสร้างและกระดูกอยู่เดิม
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการ สามารถปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อ โดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือ ช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM