19 ธันวาคม 2567 นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบโรคไม่ทราบสาเหตุระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในแถบแอฟริกากลาง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 กรมควบคุมโรคได้รับรายงานจาก SEAR International Health Regulation (SEAR IHR) โดยกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Ministry of Health Democratic Republic of the Congo)
รายงานพบการระบาดของโรคไม่ทราบสาเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ในเขตสุขภาพปานซี (Panzi Health Zone) จังหวัดกวังโกอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและยังมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
จากการติดตามสถานการณ์ ข้อมูลจาก Africa CDC ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 พบมีรายงานผู้ป่วยโรคไม่ทราบสาเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 จำนวน 527 ราย เสียชีวิต 32 ราย โดยผู้เสียชีวิต 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 59 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 42.7 รองลงมากลุ่มอายุ 5–9 ปี ร้อยละ 25.4 กลุ่มอายุมากกว่า 25 ปี ร้อยละ 22.6 กลุ่มอายุ 20–24 ปี ร้อยละ 3.6 กลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 3 และกลุ่มอายุ 15–19 ปี ร้อยละ 2.4 อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้ ไอ และอ่อนเพลีย
จากการแถลงข่าวโดยกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 พบผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้รับการยืนยันในชุมชนเพิ่มเติม ผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 9 พื้นที่จากทั้งหมด 30 พื้นที่ในเขตสุขภาพปานซี อาการที่พบในผู้เสียชีวิต ได้แก่ หายใจลำบากโลหิตจาง และมีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกส่งทีมสอบสวนควบคุมโรคไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรคและทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของโรค ศึกษาวิธีการแพร่ระบาดและให้มาตรการที่เหมาะสม ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการจึงยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด
สำหรับประเทศไทยมีการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ประชาชนในประเทศยังมีความเสี่ยงต่ำจากโรคไม่ทราบสาเหตุนี้
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ติดตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากพื้นที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เน้นให้เฝ้าระวังโรคแบบเข้มข้น โดยเฉพาะด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่เป็นด่านแรกในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพื้นที่ที่มีการระบาด
กรมควบคุมโรค มีมาตรการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากเป็น 1 ใน 42 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรคไข้เหลือง
ขอแนะนำให้ประชาชนอย่าตระหนก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคติดต่ออันตรายในผู้เดินทางเข้าประเทศ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422