การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG และผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรีครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ Health & Wellness ทำให้หลายคนจับจ้องไปที่ “ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของโรงพยาบาลธนบุรี หนึ่งในโรงพยาบาลเครือ THG ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
“ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์” อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และปัจจุบันเป็น CEO ของโรงพยาบาลธนบุรี เล่าให้ฟังว่า หลังเข้ารับตำแหน่ง ภารกิจที่ต้องเร่งเดินหน้าคือ การปรับแผนการบริหารงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำการตลาดให้โรงพยาบาลธนบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น
อาจารย์หมอวิศิษฎ์ เล่าว่า เคยทำงานเป็นแพทย์ผู้ช่วยออกตรวจในโรงพยาบาลธนบุรีขณะทำงานอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชไปด้วย ทำให้รู้จักโครงสร้างของโรงพยาบาลธนบุรีเป็นอย่างดี คุ้ยเคยกับระบบทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประเด็นสำคัญของการบริหารโรงพยาบาลและการรักษาพยาบาลจะต้องคำนึงถึง 3 เรื่อง คือ 1.การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย 2.คุณภาพการรักษา 3.ต้นทุนหรือความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ป่วย
“การทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่างกันมากนัก ต่างกันแค่ในเชิงการจัดการ โรงพยาบาลเอกชนมักไม่มีบริการแบบ Low cost ส่วนใหญ่บริการแบบพรีเมี่ยมขึ้นมาอีกระดับ แต่รูปแบบการบริหารก็ไม่ควรสุดโต่งจนเกินไป เพราะจะทำให้คนเข้าถึงได้น้อยและไม่เกิดประโยชน์กับคนไข้ ฉะนั้นต้องให้บริการให้อยู่บนพื้นฐานของคุณภาพดีและมีความรวดเร็ว”
โรงพยาบาลธนบุรีก็เช่น เป็นโรงพยาบาลพรีเมี่ยมติดอันดับ World’s Best Hospitals 2024 เป็นลำดับที่ 8 ของประเทศไทย เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าในระดับ Top และ Middle ที่มีกำลังจ่าย เน้นการรักษาโรคยากและซับซ้อน ด้วยระบบการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน ตลอดจนแพทย์ประจำจากหลายสถาบันรวมกันหลายร้อยคนในระดับผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด และมีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราชมาทำงานแบบ Part-Time และคอนเซาท์อีกเกือบ 100 คน
จากสถิติตัวเลขในปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคยากและซับซ้อนของโรงพยาบาลธนบุรีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อถือว่ามากสุดเป็นอันดับ 1 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นผู้สูงอายุ มีโรคอื่นๆ ประกอบกัน ถัดมาคือโรคระบบประสาทและสมอง โรคหัวใจ โรคปอด จำนวนคนไข้ทั้งหมดมีสัดส่วนของกลุ่มอาการหนักต้องอยู่ห้อง ICU ถึง 50% ก่อนจะถูกส่งไปรักษากับโรงพยาบาลอื่นด้วยบางส่วน
นายแพทย์วิศิษฎ์ บอกว่า แนวคิดของโรงพยาบาลเอกชนควรเป็นข้อต่อสำคัญสำหรับการรักษาคนไข้ โดยเฉพาะเคสคนไข้ฉุกเฉิน และโรงพยาบาลธนบุรีมีศักยภาพของห้อง ICU ประมาณ 60 เตียง ดูแลคนไข้ได้ครบทุกแผนก เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลโดดเด่นในด้านการรักษาที่ค่อนข้างมีคุณภาพ แม้หลายจุดยังต้องพัฒนาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางการรักษา การติดตามความก้าวหน้าด้านวิชาการแพทย์ ติดตามให้ทันเทคโนโลยี รวมถึงสร้างระบบให้บริการคนไข้ให้ทันสมัย รวมถึงคิดคำนวนการลงทุนอย่างรอบคอบ
สำหรับนโยบายที่จะเดินหน้าในปี 2568 ได้แก่ 1. สร้างการรักษาที่ดีที่สุด 2. ยกระดับคุณภาพการบริการ และ 3. พัฒนาบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนไข้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในองค์กรจากบุคลากรกว่า 2,000 คน พร้อมให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้งานผ่านโปรแกรม On-boarding ก้าวหน้าในตำแหน่งตามความสามารถส่วนบุคคล เน้นการให้ความสำคัญกับบุคลากร เพราะทุกองค์กรล้วนขับเคลื่อนด้วยคน
ด้านแผนการดำเนินงานในปี 2568 เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะมุ่งไปที่การปรับระบบการนัดหมายของคนไข้ จากปกติมีเจ้าหน้าที่โทรบอกลำดับคิวสำหรับการนัดหมาย หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องมาลงทะเบียนที่โรงพยาบาล ขณะที่ระบบใหม่คนไข้สามารถจองคิวได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นในระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ LINE แอพพลิเคชั่น ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลสามารถลงทะเบียนได้หลายจุดรวมทั้งมีพนักงานลงทะเบียนเคลื่อนที่ด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นโปรเจกต์นวัตกรรมของบริษัทสตาร์ตอัพ จากการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตึกผู้ป่วย OPD ใหม่ให้บริการทั้งหมดในอาคารเดียวกัน เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับก้าวไปสู่การเติบโตขึ้นอีกขั้น หลังจากนั้นจะปรับแผนสร้างตึกหลักสำหรับการรักษา เช่น การเอกซเรย์ (X-Ray) ทำ CT Scan การผ่าตัด ตรวจรักษาอาการหนัก รวมทั้งรื้อส่วนหน้าของโรงพยาบาลให้ดูดียิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกสบายสำหรับผู้ป่วยมี ด้วยแนวทางพัฒนาเพื่อให้คุณภาพในการรักษาผู้ป่วยเป็นสิ่งที่จับต้องได้
อาทิ การเปลี่ยนข้อเข่าด้วยหุ่นยนต์ ย่นระยะเวลาช่วยผู้ป่วยให้สามารถเดินและกลับบ้านได้ภายใน 2 วัน จากที่ผ่านมาผ่าตัดเข่าไปแล้วจำนวน 60 เคสต่อปี เป้าหมายในอนาคตจะพยายามเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าต่อปี หรือประมาณ 200-300 เคสต่อปี โดยยังคงราคาเดิมไว้เพื่อให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ รวมถึงเปิดศูนย์การตรวจร่างกายครบวงจร มุ่งไปยังการฝากท้องคุณภาพของคุณแม่และเด็ก ที่เป็นตลาดสำคัญไม่แพ้ตลาดผู้สูงอายุ และจับกลุ่มผู้ป่วยข้ามเพศซึ่งมีศักยภาพสูง จำเป็นต้องดูและทั้งร่างกายและจิตใจ เปิดคลินิกรักษาโรคเครียด เป็นต้น ทั้งหมดนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 6-7 ปี
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมโรงพยาบาลในเครือ THG ยังแข็งแรงและมีกำไร โดยเฉพาะโรงพยาบาลธนบุรีที่จะย่างเข้าสู่ปีที่ 48 ในปี 2568 ปัจจุบันที่มีลูกค้าคนไทยกว่า 90% ส่วนลูกค้าต่างชาติยังมีจำนวนน้อยราว 5-10% ตามนโยบายคือทำอย่างไรให้คนรู้จักโรงพยาบาลธนบุรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การทำแบรนดิ้ง เพื่อให้คนรับรู้ในระดับประเทศ ผ่านรายการทีวี วิทยุ วีดีโอ ระบบออนไลน์ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์ เจาะกลุ่มผู้คนให้หลากหลายมากขึ้น
“โรงพยาบาลธนบุรีมุ่งมั่นสร้างความแตกต่างให้เป็นโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเลือกได้ โดยตระหนักถึงผู้ป่วยแต่ละรายเป็นหลัก ตามความชอบส่วนตัว และบริบททางอารมณ์ที่แตกต่างกัน เราสามารถพัฒนากลยุทธ์การดูแลที่ครอบคลุมซึ่งเกินกว่าการรักษาทางการแพทย์แบบดั้งเดิม สื่อสารชัดเจน ให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยอย่างครบถ้วน ผ่านเทคนิคการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วยแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นการร่วมมือกัน เพื่อการรักษาและสุขภาพที่ดีเป็น Be the best health solution that you desire”