เครียดสะสมควรระวัง "ภาวะซึมเศร้า" หลังปีใหม่ New Year’s Blues

05 ม.ค. 2568 | 01:37 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2568 | 02:04 น.

เผยสาเหตุภาวะ "New Year’s Blues" หลังจากผ่านเทศกาลปีใหม่ ซึมเศร้าไม่มีความสุขจากความเครียดสะสม อาการจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ถ้าไม่หายต้องพบแพทย์

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า หลังจากผ่านเทศกาลปีใหม่ที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองกับครอบครัว เพื่อนและคนรัก หลายคนตั้งตารอปีใหม่ที่แสนสดใส แต่สำหรับบางคนปีใหม่คือช่วงเวลาที่ไม่อยากให้มาถึงเพราะไม่อยากออกไปไหน รู้สึกไม่มีความสุข โดยอาการแบบนี้เรียกว่า New Year’s Blues หรือ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่

New Year’s Blues หรือ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะหลายคนต่างคาดหวังให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี แต่สำหรับบางคน ช่วงเวลานี้อาจนำมาซึ่งความเศร้า เบื่อหน่าย  รู้สึกไร้ค่า ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หรือความเครียดสะสมจากการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน อาจเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

สาเหตุของภาวะซึมเศร้า ช่วงปีใหม่ในปัจจุบัน 

  • ความคาดหวังที่สูงเกินไป หลายคนมักตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังไว้สูงสำหรับปีใหม่ เมื่อพบว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อาจทำให้เกิดความผิดหวังและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
  • การทบทวนเหตุการณ์ ในช่วงปีใหม่หลายคนมักมีโอกาสได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ
  • ความเครียดจากการใช้ชีวิต ในช่วงปีใหม่หลายคนอาจต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงาน การเรียน หรือปัญหาส่วนตัว ซึ่งอาจสะสมเป็นความเครียดและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

อาการของภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่อาจคล้ายกับอาการของโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่อาการจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ ได้แก่

  • รู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย
  • ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง
  • ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
  • มีปัญหาเรื่องการนอน
  • มีปัญหาเรื่องการกิน
  • คิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่มีทั้ง การรักษาด้วยยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลและการรักษาด้วยจิตบำบัด ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอาการซึมเศร้าและเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น

โดยภาวะนี้พบได้บ่อยในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม อาการจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ กล่าวว่า ถึงแม้ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเป็นโรคนี้ และสามารถป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ได้ โดยเริ่มตั้งเป้าหมายและวางแผนสำหรับปีใหม่ เรียนรู้ที่จะยอมรับและปล่อยวางกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ หาเวลาพักผ่อนและผ่อนคลายความเครียดอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาล BMHH