เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ได้กลายเป็นที่นิยม และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดแตะ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีชื่อเสียงด้าน Wellness Tourism แห่งหนึ่งของโลก
นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาท่องเที่ยว เพื่อสุขภาพ โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาด สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยมูลค่าเกือบ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 6.1 แสนล้านบาท ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยังจัดว่าเป็นหนี่งในหมวดของ Wellness Economy ของโลก ซึ่งเติบโตเป็นอันดับ 2 รองจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ โดยทาง Global Wellness Institute; GWI) ประเมินว่า เศรษฐกิจเวลเนสโลก จะมีมูลค่าเติบโตจากราว 5.61 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 ไปแตะระดับ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโต 9% ในอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) จนถึงปี 2570 อีกด้วย ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านเวลเนส จึงขยายตัวต่อเนื่อง
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ปี 2568-2577 ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่วางเป้าหมายให้ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยปรับปรุงจากยุทธศาสตร์เดิมที่วางไว้ในปี 2560-2569 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าผลักดันรายได้จาก Medical Tourism จาก 1 ล้านล้านบาท แตะ 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2577
นายกรด โรจนเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาประธานบริหาร บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนลเฮลท์ รีสอร์ท จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย จะเป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเข้าประเทศได้ ซึ่งในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา
การวางยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้จะเน้นไปเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วงหลายปีที่มาผ่าน จะพบว่าคนหันมาดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นนอกจากแผนการพัฒนา Medical Hub ในปี 2568-2577 ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเน้นใน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2. พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ 3.การส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์แล้ว
ล่าสุดในยุคนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร มีนโยบายผลักดันให้การนำเรื่องแพทย์แผนไทย และสมุนไพร ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย เข้ามาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างจริงจัง โดยเป็นการหารือและทำงานร่วมกันของคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว และคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านเวลเนส ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้งบซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะขอรับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2569 ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1.โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ที่จะรวบรวมอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อออกแบบหรือเล่าเรื่อง สร้างประสบการณ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามธาตุทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อมุ่งเป้าหมายพัฒนาเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ศักยภาพ อย่างน้อย 10 จังหวัด
2. โครงการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อสร้างการรับรู้ซอฟต์พาวเวอร์ด้านสิน้าบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวสู่พื้นที่ศักยภาพ
3. โครงการ Global Wellness Summit 2026 ซึ่งจะเป็นการดึงการจัดอีเว้นท์ ด้านเวลเนส ระดับโลก ของGlobal Wellness Institute; GWI) ที่ภูเก็ต ถ้าไทยได้เป็นเจ้าภาพ ก็จะทำให้ศักยภาพในการสร้างแบรนด์ดิ้งด้านเวลเนสของไทย เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก
4.โครงการวิจัยและจัดทำข้อมูล Scientific Based ของสินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่อัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย เพื่อให้มีข้อมูลอ้างอิงในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำสินค้าและบริการท่องเที่ยวเหล่านี้เข้าสู่ตลาด
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ นับเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ด้วยความที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็ทำให้เกิดการขาดช่วง ดังนั้นก็หวังว่าวันนี้รัฐบาลจะมีความจริงใจในการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงๆ เพราะเป็นโอกาสของประเทศไทย และที่ผ่านมาในส่วนของภาคเอกชน ก็เห็นโอกาสจะเดินหน้าลงทุนในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นายกรด กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ธุรกิจการแพทย์ของไทยนอกจากเรื่องรักษาพยาบาล ตอนนี้เริ่มเห็นภาพการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) มากขึ้น หลายโรงพยาบาลของภาคเอกชนสร้างศูนย์เวลเนส รองรับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลชั้นนำ จากเดิมที่จะเน้นไปยังการตรวจสุขภาพทั่วไป (Health Check Up)
แต่ปัจจุบันเริ่มตรวจสุขภาพเพื่อวางแผนในเชิงป้องกันการเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆ และโรงพยาบาลบางแห่งผนึกกำลังทำงานร่วมกับสมาคมท่องเที่ยวหรือสมาคมด้านเวลเนสโดยตรง ซึ่งเป็นความร่วมมือผลักดันการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และธุรกิจเวลเนสของประเทศไทย
โดยสถานการณ์ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถือว่าคาดการณ์ได้ยากและไม่มั่นคงนัก เพราะภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรค์ใหญ่สำหรับประเทศไทยด้าน Medical Tourism แต่ยังคงมีจุดแข็งในเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ทั้งราคา คุณภาพ รวมทั้วการบริการ เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปและประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างสิงคโปร์ด้วย
ขณะที่กลุ่มประเทศอาหรับที่เคยเป็นลูกค้าในฝั่งยุโรประยะนี้ เริ่มทยอยหันมาเป็นลูกค้าของประเทศไทยมากขึ้น และเป็นลูกค้าต่างชาติกลุ่มใหญ่อันดับ 1 ถัดมาจะเป็นประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กับจีน และจากประเทศในฝั่งยุโรป ลูกค้าจากเหล่านี้จะเน้นเรื่อง Medical Tourism ทั้งการท่องเที่ยวและการรักษา โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่สำหรับธุรกิจการแพทย์และการท่องเที่ยว
ปัจจุบันการให้บริการในธุรกิจด้าน Medical Tourism ในประเทศไทยจะเน้นการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง หรือ พรีซิชันเมดิซีน (precision medicine) ออกแบบการรักษาตามความเหมาะสมของแต่ละคน และตรวจร่างกายเพื่อทำนายการเกิดโรคล่วงหน้า เรียกว่าการพยากรณ์ความเจ็บป่วยที่สามารถตรวจดูได้ลึกจนถึงระดับยีนส์
โดยโรงพยาบาลชั้นนำได้ลงทุนศูนย์จีโนมทางการแพทย์ของตัวเองหลายแห่ง มีศักยภาพสามารถตรวจผลแลปได้เอง ต่างจากในอดีตที่ต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเวชศาสตร์การฟื้นฟู การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจที่สามารถรองรับลูกค้าต่างชาติได้
นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่เหมาะสมในด้านการแพทย์ ด้วยสภาวะอากาศที่ไม่ร้อนและไม่หนาวจนเกินไปเหมาะสมกับการพักผ่อนและผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก การผลักดันด้าน Medical Tourism และ Wellness Hub ถูกพูดถึงมานานนับ 10 ปี และเริ่มขยับขยายไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ยังต้องปรับตัว
ขณะที่เครือโรงพยาบาลใหญ่จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน สามารถสามารถพัฒนาและต่อยอดรองรับลูกค้าจากต่างชาติได้มากกว่าประเทศข้างเคียงอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ความร่วมมือจากภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสในธุรกิจด้านการแพทย์ของประเทศไทยในปี 2568
อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่โรงพยาบาลจะหันมาลงทุนด้านเวลเนสเพิ่มมากขึ้น บิ๊กธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ต่างเดินหน้าลงทุนเพื่อเจาะตลาดนี้เช่น กัน ซึ่งล่าสุดไมเนอร์ ได้ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เปิดตัว ลายัน ไลฟ์ บาย อนันตรา ศูนย์สุขภาพรูปแบบใหม่ที่ภูเก็ต บีอีเอ็มเอส เวลเนส คลีนิก ผนึกโรงแรมศรีพันวา และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต เตรียมสร้างเวลเนสในภูเก็ต เป็นต้น