จังหวัดเชียงใหม่เสนอแผน CHARMIMG Chiang Mai กำหนด 4 อำเภอนำร่อง รับนักเดินทางต่างชาติมาเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว โดยศบค.กำหนดให้ดำเนินการในห้วง 1-30 พ.ย.2564 นี้ ควบคู่กับนโยบายเปิดประเทศของนายกฯ ให้รับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวบันเทิงกลับมาในช่วงท้ายปี ทำห
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อเปิดเมืองเชียงใหม่รับนักท่องเที่ยว (CHARMIMG Chiang mai) เมื่อ 15 ต.ค.2564 ว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเปิดประเทศพร้อมกันทุกจังหวัด ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการเปิด CHARMIMG Chiang mai ในทั้ง 25 อำเภอ
โดยขณะนี้แม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่จะยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่พบว่ายังมีพื้นที่อีกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีการแพร่ระบาด และชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแล ป้องกัน แก้ปัญหาโรคโควิด-19 ของชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงจะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ Blue Zone ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานแต่ละชุด ไปประชุมหารือกันในกลุ่มย่อย ก่อนจะได้มีการประชุมสรุปความพร้อมในด้านต่าง ๆ อีกครั้ง ในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นี้
นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คณะทำงานในส่วนของภาคเอกชน เห็นด้วยกับการเปิดจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว หรือเรื่องของการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคท่องเที่ยวติดล็อกมา 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบรุนแรง เสียหายไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท
ภาคเอกชนขอให้ทางจังหวัดไม่ใช่เปิดแค่ 4 อำเภอเหมือนตอนแรก ที่กำหนดจะเปิดการท่องเที่ยวนำร่องใน 4 อำเภอแซนด์บ็อกซ์ แต่เราขอให้เปิดการท่องเที่ยวให้ครบทั้ง 25 อำเภอ เพราะมองว่าในเมื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว ไม่สามารถเลือกขับเคลื่อนในบางพื้นที่ได้ ต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งจังหวัด เพียงแต่ว่าต้องมีแผนรองรับ กรณีเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น และระบบสาธารณสุขต้องมีเพียงพอที่ประชาชนเข้าถึงได้
"ข้อเสนอนี้ท่านผู้ว่าฯเห็นด้วย ที่จะเปิดการท่องเที่ยวให้ครบทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะจริง ๆ แล้ว การนำร่องแค่ 4 อำเภอแซนด์บ็อกซ์ เช่น อำเภอพร้าว แต่การจะเดินทางไปถึงอ.พร้าว ต้องผ่านอ.แม่ริม ผ่านแม่โจ้ อย่างนั้นแล้วมาเปิดทั้งเมืองดีกว่า เพียงแต่ต้องสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในท้องถิ่นให้เข้มแข็งไว้รับมือ
ประธานหอฯเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า การเปิดเมืองครั้งนี้ประจวบกับเข้าช่วงไฮซีซั่น เข้าจังหวะการจะกลับมาเปิดเมืองเชียงใหม่ให้ท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้คาดหวัง 100 % เพราะภาคเอกชนเองก็ต้องใช้เวลากว่าจะระดมทุนรอนกลับมาลงทุนเปิดกิจการ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
"เราวางแผนว่าประมาณในไตรมาส 2 ของปี 2565 ก็น่าจะเริ่มเห็นผล ที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการมากขึ้นและที่สำคัญบัณฑิตที่จบมาใหม่ ๆ ตอนนี้ไม่มีงานทำ ถ้าเรามีการเปิดเมือง มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทางภาคเอกชนเองก็ต้องรับบุคลากรเข้ามาทำงาน"
ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนนั้น เวลานี้ภาคธุรกิจที่เชียงใหม่จัดฉีดวัคซีนเข็มแรกได้กว่า 70% แล้ว และเกือบครบ 100 % ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดเมืองแบบพร้อมกันทุกอำเภอ ซึ่งต้องผลักดันต่อไป รวมทั้งเร่งรัดให้ส่วนกลางจัดสรรวัคซีนให้เชียงใหม่มากขึ้นเพื่อให้ฉีดได้ตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกันทางจังหวัดก็เร่งรัดวางแผนสกัดสะเก็ดไฟ คุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ที่ยังเร่งตัวขึ้นสวนทางเป้าหมายเปิดเมือง โดยในวันหยุดเสาร์ที่ 16 ต.ค. 25 64 ที่ผ่านมา นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ชุด ศปก.จว.เชียงใหม่ ประชุมร่วมกับทีม ศปก.เทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายอัศนี บูรณปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เพื่อหารือร่วมกันในการควบคุมโควิด-19 จากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ ที่อาจลุกลามไปยังชุมชนรอบข้างและอำเภอรายรอบ
เนื่องจากตลาดเมืองใหม่เป็นตลาดใหญ่ เชื่อมโยงไปยังทุกอำเภอของเชียงใหม่ รวมถึงต่างจังหวัดด้วย ซึ่งต้องมีแนวทางควบคุมเชื้อโควิด-19 ที่อาจระบาดสู่ชุมชนรายรอบ ทั้งชุมชนผู้ค้าและแรงงานในตลาดพักอาศัย และชุมชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในตลาด เป็นการจัดการ"สะเก็ดไฟ" โดยให้เร่งสุ่มตรวจคัดกรองในทุกชุมชน หากพบผู้เสี่ยงสูงให้สั่งกักตัวทุกคน
“การจัดการกับสะเก็ดไฟประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้เสี่ยงสูงกักตัวให้ครบ 14 วันทุกคน พร้อมกับจัดการกับกลุ่มเสี่ยง ที่กระจายไปยังชุมชนให้ได้ ต้องอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ที่ต้องกักตัว ให้รับรู้รับทราบเหตุผลความจำเป็นในการที่อาจจะเป็นผู้แพร่เชื้อได้ จากคนติดเชื้อแล้วก็ต้องล็อคคนรอบข้างให้ได้ หาเสี่ยงสูงรอบข้างให้เจอ แล้วนำตัวเข้าสู่มาตรการในการควบคุมโรค ก็จะทำให้การควบคุมโควิด-19 จะอยู่ในวงจำกัดและจัดการได้ในที่สุด” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนการควบคุมโรคคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ ศปก.ทน.เชียงใหม่ ได้ปูพรมตรวจคัดกรองด้วยการ Swab และตรวจ ATK ทั้งผู้ค้า แรงงาน แรงงานต่างด้าว มากกว่า 7,000 ราย แยกเป็น Swab 6,000 กว่าราย ตรวจด้วย ATK 690 ราย พร้อมกันนี้ ศปก.ทน.เชียงใหม่ วางแผนที่จะปูพรหมตรวจด้วย ATK อีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค. 64 นี้ 1,500 ชุด และทางศูนย์บริหารวัคซีนโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสรรวัคซีนสำหรับฉีดให้ทุกคนในตลาดเมืองใหม่อีก 4,000 โดส ต่อไปจะเปิดตลาดเมืองใหม่ต้องให้ผู้ค้าได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน
ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ย้ำอีกว่า ก่อนถึงวันที่ 22 ต.ค. 2564 ศปก.ทน.เชียงใหม่ ต้องสร้างและวางมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะควบคุมโควิด-19 ได้ ก็ต้องมีการจัดการทั้งภายในตลาดเมืองใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นวงแรก รวมถึงในวงถัดออกมาที่เป็นชุมชนรายรอบ วงถัดออกไปอีกก็จะเป็นตำบล อำเภอรายรอบ และอำเภอพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่
ในส่วนของอำเภอต่าง ๆ ซึ่งมี ศปก.อำเภอ ศปก.ตำบล รับผิดชอบก็ได้มีการควบคุม มีการคัดกรองแล้วในทุกพื้นที่ ซึ่งก็พบผู้ติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงจากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ และได้มีการควบคุมโรคในพื้นที่นั้น ๆ โดยในส่วนรับผิดชอบของ ศปก.ทน.เชียงใหม่ ได้สั่งการให้ ศปก.จว.เชียงใหม่ เข้ามาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติด้วยอีกแรง