ภาวะโลกรวน หรือ Climate change คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้โควิด 19 เกิดจากการปล่อยมลพิษต่างๆ ออกมาโดยไม่ควบคุม ส่งผลให้เกิด “ภาวะเรือนกระจก” มากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มเดินหน้าแผน “Net Zero”
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่รายงานโดย Climate Watch Data 2018 จัดอันดับไว้ดังนี้
อันดับ 1 คือ จีน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 122355.24 mtCO₂e หรือประมาณ 19% รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 6023.62 mtCO₂e หรือประมาณ 18%
ส่วนประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 416.95 mtCO₂e หรือประมาณ 0.8%
ความรุนแรงของการสภาพอากศที่แปรปรวนยืนยันอีกเสียงจาก คณะกรรมการขององค์การสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกคำเตือน วิกฤตสภาพอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับ ‘สีแดง’
สถานการณ์ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น ประมาณ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีฐานข้อมูลในปี 1850-1900 โดยอุณหภูมิแผ่นดินร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.59 องศาฯ ส่วนอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น 0.88 องศาฯ
ความร้อนที่มากขึ้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างแผ่นดินกับทะเล เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศหลายอย่าง
โดยประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศทุกๆ 1,000 ล้านกิกะตัน จะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.45 องศา (best estimate) อีกทั้ง มีการคาดการณ์อุณหภูมิ "โลกร้อน" แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ
ภายในปี 2573 อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดย การศึกษาของ IPCC ระบุด้วยว่า ผลกระทบที่คาดว่าจะตามมาในไม่ช้านี้ ได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเลวร้ายขึ้นอย่างมาก
จินตนาการไม่ออกเลยว่าหากถึง 1.5 องศา อะไรจะเกิดขึ้น นี่คือสัญญาณธรรมชาติกำลังเอาคืน !!!!
ประเทศไทยเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือ “โลกรวน”
ดร.เอ้-ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Suchatvee Suwansawat ระบุว่า อีก 10 ปี ไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด ดูได้จากเดือนพฤศจิกายนซึ่งปลายปีแล้วฝนยังตกต่อเนื่องใน กทม. น้ำยังท่วมขังในหลายจังหวัด
หากถึง 1.5 ไม่กล้าจินตนาการความเสียหาย เพราะ ในฤดูฝน ฝนจะตกมากกว่าเดิมอีก 3 เท่า ในฤดูแล้ง จะแล้งมากกว่าเดิม 2-4 เท่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มากกว่าครึ่งเมตร! และไทยเอง จะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโลกมากที่สุด พิสูจน์ชัด น้ำท่วมปีนี้ ดินโคลนถล่ม แต่สิ่งที่เกิดในปีนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรง ฝนตกหนักกว่าเดิม น้ำทะเลสูงขึ้นกว่าเดิม
การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้น โดยเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ยังไงก็ต้องทำ ยังต้องเร่งเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแล้ว
“ผมมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050”
นี่คือสาระสำคัญจากถ้อยแถลงของ “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีต่อที่ประชุมระดับผู้นำ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่าประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อนานาประเทศ ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่
เมื่อกลับมาดูยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวในประเทศไทย ที่ก่อนหน้านั้นมีเพียง แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564-2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030)
ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 20-25% เท่านั้น ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงเพียง 20% (ตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก) และใช้พลังงานหมุนเวียน 40% ขณะที่ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เมื่อปี 2561 พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีอยู่ที่ร้อยละ 7.10
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าแล้วตัวเลขลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% จากถ้อยแถลงของนายกฯ มาจากไหน ????
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไท เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จัดส่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ในช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564
สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส
ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030 มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2065 ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้