เมื่อ “ธงชาติไทย” โบกสะบัดบนเวทีโลก ย่อมหมายถึงศักดิ์ศรี และหน้าตาของประเทศ แต่ครั้งนี้ก็กลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อีกครั้งกับคำถามที่ว่าทำไม ธงชาติไทยไม่ได้โบกสะบัด
หลังจากที่ “บาส เดชาพล” และ “ปอป้อ ทรัพย์สิรี” คู่ผสมมือ 1 ของโลกขวัญใจชาวไทย ได้รับเหรียญทองศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก ณ เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลับต้องใช้ธงเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว เขียนว่า BAT (Badminton - Association - Thailand)
นั่นเพราะการลงดาบของวาด้า WADA องค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลกต่อวงการกีฬาไทย ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ถือเป็นข่าวใหญ่สุดของวงการกีฬาไทย เพราะจะโดนแบน โดยให้เหตุผลว่า
องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทยบกพร่องในการนำกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ไปปรับใช้กับนักกีฬาในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้กฏหมายของประเทศไทย
พูดง่ายๆก็คือ พ.ร.บ.สารกระตุ้นฉบับปัจจุบันของไทยล้าหลังเกินไปในสายตาของวาด้า
วาด้ากำหนดถึงสารเคมีที่เข้าข่ายเป็นสารกระตุ้นไว้ตามเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้ คือ 1. มีศักยภาพในการสมรรถนะการเล่นกีฬา 2. มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับนักกีฬา 3. ละเมิดจิตวิญญาณของเกมกีฬา โดยสารเคมีใดที่เข้าข่าย 2 ใน 3 ข้อนี้ จะถือเป็นสารกระตุ้นที่ถูกแบนโดยวาด้า
อีกประเด็นก็คือ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทย DCAT ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ตามกฎหมายขึ้นตรงอยู่กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของวาด้า ที่ต้องการให้เป็นองค์กรเอกเทศ เพราะอาจเกิดช่องว่างในกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการควบคุมกิจการ อาจเกิดปัญหาละเลย ช่วยเหลือนักกีฬาที่ใช้สารต้องห้าม โดยไม่ได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่วาด้ากำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
วาด้าขีดเส้นตาย 21 วัน แต่ไทยไม่ยอมเดินหน้าจัดการแก้ไข พ.ร.บ. เพราะขั้นตอนการแก้กฎหมายของไทยมีความซับซ้อนมากเกินไป ทั้งยังมีประเด็นที่ว่า รัฐบาลไม่กล้าเสนอ เพราะกลัวแพ้โหวต
เรื่องนี้ส่งผลให้วงการกีฬาไทยต้องยอมรับบทลงโทษ 4 ข้อ คือ ไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการและรับทุนสนับสนุนจากวาดาได้ กรรมการชาวไทย ในสหพันธ์กีฬานานาชาติ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี ไม่สามารถจัดกีฬานานาชาติระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ยกเว้นโอลิมปิก และพาราลิมปิกเกมส์ และ ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก
บทลงโทษนี้จะคงสถานะไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น หากไทยไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาด้า
การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงว่าไทยไม่เคยบกพร่องการตรวจสอบและควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา เพียงแต่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ที่กำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดให้นักกีฬาสามารถตรวจสารกระตุ้นในระหว่างเวลาทำการ
แก้กฎหมาย ใน พ.ร.บ. ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ไทยทำอะไรไปถึงไหนแล้ว
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เคยกล่าวว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด ซึ่งกรณีของไทยแตกต่างจากอินโดนีเซีย และ เกาหลีเหนือที่โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบ และควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา
แนวทางการแก้ไขปัญหาคือจะมีการออกกฏหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฏหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายแล้วเสร็จเมื่อ 10 พ.ย.64 และเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อให้ออกมาเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก่อน
โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะส่งเรื่องให้วาด้าพิจารณา ส่วนการแยกออกเป็นองกรค์อิสระนั้นแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ กกท. เพราะจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ เรื่องบุคคลากร และเงินสนับสนุนด้วย