ย้อนรอยวงการยางพารา “บจก.เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด” ชื่อโผล่ในดีลซื้อขายยางเก่าพ่วงยางใหม่ 4.08 แสนตัน ใน 2 โครงการของรัฐบาล คือ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยเป็นสัญญาซื้อขายยางระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับ บริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ได้รับมอบอำนาจจาก บจก. ไชน่า ไห่หนานฯ ประเทศจีน ให้เป็นตัวแทนซื้อขาย โดยมีผู้บริหารจากบริษัท เอ็มทีเซ็นเตอร์ เทรดฯ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มจากไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์)ฯ เป็นผู้รับมอบสินค้า แต่สามารถส่งมอบยางรวมได้แค่ 3.5 หมื่นตัน
ต่อมาในปี 2559-2560 นายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้ว่าการ กยท. ได้เปิดประมูลยางในสต๊อก 3.1 แสนตัน โดยเริ่มประมูลวันที่ 28 ธ.ค. 2559 จำนวน 6 โกดัง จากทั้งหมด 64 โกดัง โดยใช้ราคาขั้นต่ำของยางพารา ณ วันที่ 21 ธ.ค. 2559 เป็นฐาน โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 72 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และยางแท่งเอสทีอาร์ 20 ราคา 68 บาทต่อ กก. สรุปขายให้กับ 15 บริษัท จำนวน 2.08 แสนตัน เป็นเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด เป็นหนึ่งใน 15 บริษัท มาร่วมประมูล ได้ยาง 2.9 หมื่นตัน ราคาที่ประมูลซื้อ 67.13 บาท ต่อกก. คิดเป็นเงิน 1,998 ล้านบาท แต่ก็ไม่มารับมอบตามสัญญาจนถึงปัจจุบัน
กรณีดังกล่าว ล่าสุดนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยางในสต๊อกที่เหลือ จากที่ บริษัทเอ็มทีเซ็นเตอร์เทรด ไม่มารับมอบตามสัญญา ยังไม่ได้กำหนดว่าจะขายเมื่อไร กำลังอยู่ในระหว่างการบังคับสัญญาให้มารับยางที่เหลือ 2.9 หมื่นตันก่อน เพราะตอนที่ประมูลซื้อไป 67.13 บาทต่อ กก. เป็นราคาค่อนข้างสูง
ปัจจุบันราคายางพารา ณ วันที่ 2 ก.พ. 2565 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 59.49 บาทต่อ กก. ซึ่งแนวโน้มได้ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ โดยราคาช่วงตรุษจีนปีนี้ดีมากทุบสถิติในรอบ 5 ปี หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 47.19 บาทต่อ กก. จากปกติช่วงตรุษจีนทุกปีราคาจะลดลงมา มองแนวโน้มราคาจากนี้น่ายืนในระดับสูง
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) ซึ่งมีสมาชิก 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เมียนมา จีน เวียดนาม ปาปัวนิวกินี และ สิงคโปร์ ได้ประเมินผลผลิตและความต้องการยางพาราของโลกในช่วง 7 ปี นับจากนี้ (2565-2571) (กราฟิกประกอบ)
จะเห็นว่า ในส่วนของผลผลิต(ซัพพลาย) จะน้อยกว่าความต้องการด์ (ดีมานด์) ทำให้เกิดการขาดแคลน สาเหตุสำคัญจากโรคใบร่วงยางพาราระบาด แต่อีกด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบกลับมาขยายตัว ซึ่งจะเห็นว่าหากอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเพียง 3% ก็จะทำให้ยางโลกขาดแคลนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการบริหารยางพาราของ กยท.ไม่ได้ดูแลแค่ชาวสวนยางอย่างเดียว แต่ดูแลในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่องไม่ให้ขาด แคลนวัตถุดิบในการแปรรูปด้วย หากยางธรรมชาติขาดแคลนอุตสาหกรรมอาจจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนมากขึ้นอาจกระทบเกษตรกรได้
ดังนั้นการบริหารยางทั้งระบบต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้กับผลผลิต ทั้งนี้จากแนวโน้มผลผลิตยางพาราไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโลก และทิศทางราคาดี เห็นว่าชาวสวนไม่ต้องเร่งโค่นยาง โดยสามารถมีรายได้จากสวนยางเดิมที่มีอยู่ ขณะที่ กยท. จะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุน เช่น ในเรื่องปุ๋ย รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมทำให้มีน้ำยางเพิ่มเพื่อไม่ให้ชาวสวนเสียโอกาส
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3755 วันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ 2565