ควันหลงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกประชุมวาระลับหลังจากเสร็จสิ้นวาระการหารือตามปกติ โดยให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตรัสเซียและยูเครนด้านต่าง ๆ ภายใต้ความรับผิดชอบ ซึ่งใช้เวลาหารือกันนาน 1 ชั่วโมง
หลังการหารือลับครั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปที่ออกมาเป็นมาตรการ หรือแผนการทำงานที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล เพราะรัฐมนตรีกระทรวงจากต่าง ๆ ได้รายงานแค่ปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี รับทราบเท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่า แม้จะเป็นแค่เพียงรายงาน แต่ตลอดระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี ได้นั่งรับฟังด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียดมากกว่าใครในวงประชุม เนื่องจากทุกเรื่องที่รายงานมานั้น ล้วนส่งผลกระทบกับประเทศไทยทั้งสิ้น
โดยเฉพาะ 3 กระทรวงหลักทางด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพลังงาน เพราะเจอผลกระทบเกี่ยวกับราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยที่ประชุมได้สั่งเพียงแค่ให้ไปวางแผนรับมือปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เองได้มีการรายงานถึงผลกระทบเกี่ยวกับการส่งออกสินค้า หลังจากเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถขนส่งได้ตามเส้นทางเดิม และต้องอ้อมทำให้เกิดต้นทุนการขนส่งมหาศาล
เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้รายงานผลกระทบเรื่องของปุ๋ยเคมี หลังจากรัสเซียระงับการส่งออกวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยแล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้คงต้องหาแผนสำรองต่อไป
ส่วนอีกหนึ่งกระทรวงที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ไปดำเนินการเรื่องต่าง ๆ มากที่สุด คือ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายกฯ ได้ขอให้ไปเป็นผู้ประสานงาน และเจรจาในเรื่องต่าง ๆ ทั้งส่งออก พลังงาน ปุ๋ยและสินค้าเกษตรโดยด่วน
ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการรายงานออกมาว่า ที่ประชุมครม.เตรียมหารือถึงทางแก้ปัญหาและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตกค้างทั้ง 2 ประเทศ ที่มีจำนวนอยู่ไม่น้อย
โดยภายหลังการประชุม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ออกมายอมรับว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รายงานสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดให้ นายกฯ รับทราบแล้ว
ทั้งนี้ พบว่า ณ ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ตกค้างอยู่ในประเทศไทยเกือบ 3 หมื่นคน แยกเป็น นักท่องเที่ยวรัสเซียประมาณ 25,000 คนและยูเครน ประมาณ 2,700 คน กระจายในจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา กรุงเทพฯ และพัทยา
ส่วนแนวทางการการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไรออกมา เพราะทุกกระทรวงต้องกลับไปทำการบ้าน แล้วค่อยสรุปรายละเอียดทุกเรื่องมาคุยกันอีกครั้ง คาดว่า อย่างเร็วที่สุดก็ในการประชุมครม.ครั้งต่อไป
“ผลจากการประชุมครั้งนี้จะต้องกลับไปทำการบ้านมาทั้งหมด เพื่อเสนอครม. โดยจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะนัดหารือกับภาคเอกชน ทั้ง สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมภัตตาคารไทย เพื่อช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ยังตกค้างอยู่ รวมถึงจะหารือกับทางสถานทูตทั้ง 2 ประเทศเพื่อประสานความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วย” นายพิพัฒน์ ระบุ
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวตกค้างที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เสนอไปในการประชุมครั้งนี้ สามารถแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
ประเด็นแรก คือ การทำธุรกรรมทางการเงินของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ถูกระงับการใช้บัตรเครดิต วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาให้นักท่องเที่ยวที่ยังติดค้างอยู่ในประเทศไทยสามารถใช้จ่ายเงินได้ ส่วนแนวคิดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี มาใช้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ เพราะยังติดขัดข้อกฎหมายของไทยอยู่
ประเด็นที่สอง คือ การประสานหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่แสดงความต้องการเดินทางกลับ เช่น การเดินทางไปยังตะวันออกกลางก่อนจะต่อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปได้
ประเด็นที่สาม คือ การแก้ปัญหาเรื่องของการประกันสุขภาพ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบายกรณีติดเชื้อโควิด-19 ของนักท่องเที่ยวที่ตกค้างนั้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องนี้ โดยนายกฯ ขอให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปพิจารณาแนวทางการดูแลให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยมานำเสนอต่อไป
ประเด็นที่สี่ คือ กรณีของการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อวีซ่าให้กับชาวรัสเซียและยูเครน ซึ่งปกติชาวรัสเซียเข้าไทยจะไม่ต้องชำระค่าวีซ่า แต่อยู่ได้ 30 วัน หากเลยระยะเวลาต้องเสียค่าต่อวีซ่าคนละ 1,900 บาท ส่วนชาวยูเครนเข้าไทยจะได้รับวีซ่าที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง มีค่าใช้จ่ายคนละ 2,000 บาท และกรณีต่อวีซ่าต้องจ่ายเพิ่ม 1,900 บาท ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาคุยในครั้งนี้