ย้อนตำนาน “ราคามาม่า” ดัชนีเศรษฐกิจของไทย ขึ้นราคามาแล้วกี่ครั้ง

27 เม.ย. 2565 | 12:19 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 19:44 น.

รายงานพิเศษ : สถิติ “ราคามาม่า” หนึ่งในดัชนีเศรษฐกิจแบบไทย มีการขอปรับขึ้นราคามาแล้วกี่ครั้ง ในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 - 2565

ถือว่าเป็นข่าว "เขย่าดัชนีเศรษฐกิจ" ของไทยอีกครั้ง หลังจากฐานเศรษฐกิจ นำเสนอข่าว “มาม่าปรับราคา

 

หลังตัวแทนจำหน่ายหรือซัพพลายเออร์บะหมี่กึ่งสำเร็จรายใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ประกาศปรับราคาขายปลีกไปยังคู่ค้า ร้านโชห่วย ซองละ 0.50-1 บาท ซึ่งจะเริ่มปรับเดือนพฤษภาคมนี้


เรียกได้ว่าเป็นผลพวงมาจากข่าวที่รัฐบาลประกาศจะ "ลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล" นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นต้นไป

 

แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ไหนจะต้นทุนอื่นๆ ที่วัตถุดิบปรับราคาไปก่อนหน้า ทำให้หลายสินค้าเริ่มประกาศปรับราคาขึ้นตามไปด้วย 

จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้มาม่ากำลังจะปรับราคาครั้งนี้ ด้วยเหตุผลและความจริงที่ยากจะแบกเอาไว้ได้

 

ทั้งค่าขนส่งที่กำลังจะเพิ่มขึ้น ทั้งค่าวัตถุดิบสำคัญ อาทิ แป้ง น้ำมันพืช ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

 

ฐานเศรษฐกิจ ไม่รอช้า ที่จะพาไปย้อนประวัติศาสตร์ "สถิติการปรับขึ้นราคา" ครั้งนี้ของมาม่า

 

ก็พบข้อมูลว่า นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกของการปรับขึ้นราคา แต่นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 15 ปี จากการกล้ำกลืน "ตรึงราคา" ซองละ 6 บาท มาเป็นเวลานาน

 

ข้อมูลพบสถิติการปรับราคามาม่าเกิดขึ้นมาแล้ว รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ดังนี้

ปี 2515 - ซองละ 2 บาท 

 

เป็นราคาขายครั้งแรกหลังบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ชำนาญทางเทคโนโลยีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ผู้รับผิดชอบการตลาดและจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น มูลค่า 6 ล้านบาท เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในเครื่องหมายการค้า "มาม่า" 

 


ปี 2540 – ซองละ 5 บาท 

 

เป็นการปรับราคานับตั้งแต่เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ปี พ.ศ.2540 ที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุน ปรับเพิ่มขึ้นจากผลพวงการลอยตัวค่าเงินบาท

 

ปี 2550 – ซองละ 6 บาท 

 

เป็นการขอปรับราคาในช่วงไตรมาส 4 ปี 2550 โดยมีเหตุผลการปรับราคามาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ

 

ปี 2565 – เพิ่มซองละ 0.50-1 บาท (พ.ค.เป็นต้นไป)  

 

สาเหตุของการปรับคล้ายกับปี 40 และ 50 ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งจากค่าขนส่ง ที่รัฐบาลจะมีการปรับลอยตัวน้ำมันดีเซล 1 พ.ค. 65 และวัตถุดิบสำคัญ อาทิ แป้ง น้ำมันพืช และอื่นๆที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

สถิติการปรับราคามาม่า พ.ศ. 2515 - 2565