หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งให้สูงขึ้น ผนวกกับต้นทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับราคาไปก่อนหน้า ทำให้หลายสินค้าเริ่มประกาศปรับราคาขึ้นตามไปด้วย รวมถึง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” อย่างมาม่า ที่ขึ้นราคาขายส่ง 10 สตางค์ต่อซองไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ล่าสุด ตัวแทนจำหน่ายหรือซัพพลายเออร์บะหมี่กึ่งสำเร็จรายใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ประกาศปรับราคาขายปลีกไปยังคู่ค้า ร้านโชห่วย ซองละ 0.50-1 บาท ในเดือนพฤษภาคมนี้
ให้สาเหตุถึงการปรับราคาครั้งนี้ว่า เกิดจากปัญหาค่าขนส่ง วัตถุดิบสำคัญ อาทิ แป้ง น้ำมันพืช ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
ส่วนมาม่าที่แจ้งปรับราคาจะเป็นกลุ่มเส้นบะหมี่ (สีเหลือง) อาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ เป็นต้น โดยมีการปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง หรือ 180 ซอง) ส่วนเส้นขาว เช่น เส้นหมี่น้ำใส และมาม่า คัพ ยังไม่มีการปรับราคา
ขณะที่ราคาขายส่ง ปรับขึ้นเป็นกล่องละ 145 บาท จากเดิม 143 บาท และลังละ 870 บาท จากเดิม 858 บาท และในตลาดจะเริ่มทยอยใช้ราคาใหม่นี้ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ทำให้ราคาขายเพิ่มเป็น 6.50-7 บาท จากเดิมราคา 6 บาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตมาม่า ได้ออกมาแจงถึงต้นทุนการผลิตว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนแป้งสาลีปรับขึ้นราคา 2 เท่าตัว จากราคา 200 บาทต่อถุง (22.5 กิโลกรัม) เป็นเกือบ 500 บาทต่อถุง
น้ำมันปาล์มปรับขึ้น 3 เท่าตัว จาก 19 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 59 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงบรรจุภัณฑ์ก็มีการปรับราคาขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของมาม่า ขยับขึ้นเกือบ 20% ดังนั้นไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ต้องปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อซอง ขณะที่ราคาจำหน่ายมาม่ายังคง 6 บาทไม่มีการปรับราคาขึ้นตลอดระยะเวลา 14 ปี
ขณะที่ยอดขายมาม่า เป็นเรือธงของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ โดยในปี 2564 มีไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มียอดขาย 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศราว 70% หรือ 1 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 30% หรือ 4,000 ล้านบาท
โดยในปี 2569 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้รวม 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 1.5 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 1.5 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศไทย 5 แห่ง และ และต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ฮังการี บังคลาเทศ เมียนมาร์ และกัมพูชา มีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในทุกทวีปทั่วโลกมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี รวม 68 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอแลนด์ แอฟริกาใต้ เลบานอน อังกฤษ ยูเครน ไอส์แลนด์ จีน อินเดีย กัมพูชา ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในสัปดาห์ก่อน แหล่งข่าวจาก กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวยืนยันว่า มีเอกชนขอปรับราคาสินค้าขึ้นหลายรายการ รวมไปถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยกรมได้เชิญผู้ผลิตมาหารือซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไว้ก่อน มีเพียงปุ๋ยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะหากไม่ให้มีการปรับราคาอาจส่งผลให้ปุ๋ยขาดตลาดได้เพราะปุ๋ยส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด