เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | คุณลำเอียง โดยไม่ได้ตั้งใจบ้างไหม?

01 ส.ค. 2561 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2561 | 17:13 น.
มีงานวิจัยที่น่าสนใจโดย Bertrand & Mullainathan (2004) ได้ทำการทดลองโดยสร้าง Resume ปลอมของผู้สมัครงาน แล้วส่งไปสมัครงานในเมือง Chicago กับ Boston (ช่วง 2001-2002) โดยให้ Resume แต่ละฉบับที่สร้างขึ้นมีคุณสมบัติคล้ายกันในเรื่องของประสบการณ์ การศึกษา etc. แต่ใช้ชื่อของผู้สมัครที่ต่างกัน โดย Resume ส่วนหนึ่งให้ใช้ชื่อที่น่าจะเป็นชื่อของคนผิวขาว เช่น Emily กับ Greg อีกส่วนหนึ่งให้ใช้ชื่อที่น่าจะเป็นชื่อของคนผิวดำ เช่น Lakisha กับ Jamal

สิ่งที่นักวิจัยต้องการทราบจากการทดลองนี้ คือผู้จ้างงานมีความลำเอียง หรือ มีการเลือกปฏิบัติไหม หากผู้จ้างงานเชื่อว่าผู้สมัครเป็นผู้สมัครผิวขาวหรือผู้สมัครผิวดำ (เนื่องจาก Resume เป็น Resume ที่สร้างขึ้นเอง จึงสามารถกำหนดให้คุณสมบัติของผู้สมัครผิวขาวกับผู้สมัครผิวดำใกล้เคียงกันมากได้)

จากการทดลองพบว่า แม้คุณสมบัติใน Resume แต่ละฉบับจะใกล้เคียงกันมาก แต่ผู้สมัครผิวดำได้รับการติดต่อกลับน้อยกว่าผู้สมัครผิวขาวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

หลังจากงานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ ได้มีนักวิจัยกลุ่มอื่นพยายามทำการทดลองแนวนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ และหลากหลายประเด็นการเลือกปฏิบัติ เช่น Darolia et al. (2016) ได้ทำการทดลองซํ้าใน USA แต่ในพื้นที่ที่กว้างขึ้น และอาชีพที่หลากหลายขึ้น พบว่าอาชีพการขาย (Sales) เป็นอาชีพที่คนผิวดำถูกเลือกปฏิบัติโดยได้รับการติดต่อกลับน้อยกว่าคนผิวขาวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สำหรับประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ แม้ Bailey, Wallace, & Wright (2013) จะไม่พบการเลือกปฏิบัติระหว่าง LGBT กับ non-LGBT ในการทดลองส่ง Resume ในบางเมืองใน USA (Philadelphia, Chicago, Dallas, San Francisco) แต่ Ahmed, Andersson, & Hammarstedt (2013) และ Patacchini, Ragusa, & Zenou (2015) ได้ลองทำการทดลองที่คล้ายคลึงกันแล้วพบว่า LGBT ถูกเลือกปฏิบัติโดยได้รับการติดต่อกลับน้อยกว่า non-LGBT อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในบางพื้นที่ในยุโรป

สำหรับประเทศไทย ได้มีนิสิตระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ลองทำการวิจัยในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน พบว่า ผู้สมัครที่ Resume บ่งบอกความเป็น LGBT (เช่น ใส่ข้อมูลว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของ LGBT) ได้รับการตอบใบสมัครตํ่ากว่าผู้ที่ไม่มีกิจกรรมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนผู้สมัครที่ Resume บ่งบอกความเป็น Ethnic Minority (เช่น ในรูปถ่ายมีการโพกผ้าฮิญาบ) ก็ได้รับการตอบใบสมัครตํ่ากว่าผู้ที่ใส่รูปที่ไม่โพกผ้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นกัน

จากงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น จะพบได้ว่าเห็นว่ามีความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน นั่นคือ มนุษย์ได้รับการปฏิบัติจากมนุษย์ด้วยกันเองอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะมีสีผิวที่ ต่างกัน เชื้อชาติที่ต่างกัน หรือเพศสภาพที่ต่างกัน

แม้การทดลองเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าความลำเอียงนี้เกิดจากความตั้งใจของนายจ้างหรือไม่ ผู้เขียนอยากฝากให้ผู้อ่านไปลองคิดต่อดูว่าทำไมผลการทดลองจึงเป็นเช่นนั้น?

ผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยเหล่านี้ มีบางเรื่องอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเราหรือไม่? หรือเรามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในสังคมบ้างไหม?

เราลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติโดยตั้งใจไหม? ถ้าตั้งใจเพราะอะไร?

ถ้าไม่ได้ตั้งใจ เราจะทำอย่างไรดีเพื่อลดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนี้ลง?

คนที่เป็นพ่อแม่ คงทราบดีว่าลูกของคุณเลียนแบบพฤติกรรมของคุณแม้ ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณไม่ได้สอนหรือไม่ได้ อยากให้เลียบแบบก็ตาม นอกจากนี้ AI ก็เรียนรู้วิธีการคิดการตัดสินใจจากข้อมูลพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม

พฤติกรรมของเราในวันนี้จะถูกสืบทอดไป ไม่ว่าเราตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยพฤติกรรมของเราจะสร้างมาตรฐานสังคมที่เราอยู่ คำถามคือ เราอยากให้สังคมเป็นแบบนี้ไหม? เราอยากให้ลูกหลานเติบโตอยู่ในสังคมที่มนุษย์ได้รับการปฏิบัติจากมนุษย์ด้วยกันเองอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะมีสีผิวที่ต่างกัน เชื้อชาติที่ต่างกัน หรือเพศสภาพที่ต่างกัน หรือไม่? ถ้าไม่ เราควรจะทำอย่างไรดี?

|เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
|โดย : ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3388 ระหว่างวันที่ 2 - 4 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62