สปสช. ย้ำชัดเจน เจ็บป่วยโควิด-19 ตรวจรักษา รพ.รัฐ - เอกชนไม่ต้องจ่าย

10 พ.ค. 2564 | 04:36 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 14:55 น.

สปสช. ย้ำชัดเจน เจ็บป่วยโควิด-19 ตรวจรักษา รพ.รัฐ - เอกชนไม่ต้องจ่าย รัฐบาลมีนโยบายชัดดูแลคนไทยทุกคนกรณีโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนห้ามเรียกเก็บเงินผู้ป่วยทุกสิทธิ์

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รอบที่ 3 ถือเป็นสถานการณ์วิกฤติรุนแรงของประเทศ รัฐบาลทุ่มสรรพกำลัง งบประมาณและทรัพยากรทั้งหลาย เพื่อเร่งยับยั้งการแพร่ระบาด รวมถึงการรักษาพยาบาลและนำผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 2 พันคนต่อวันเข้าสู่ระบบการดูแล ไม่แค่ครอบคลุมการรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐเท่านั้น แต่รวมถึงการรับบริการที่โรงพยาบาลเอกขน   

จากปรากฏการร้องเรียนผ่าน Social media กรณีถูกเรียกเก็บค่าตรวจคัดกรองและค่ารักษาพยาบาลนั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดดูแลคนไทยทุกคนกรณีโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนห้ามเรียกเก็บเงินผู้ป่วยทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่าติดเชื้อหรือที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีคำว่าเรียกเก็บส่วนต่างจากที่รัฐบาลจ่ายให้ เพราะได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจ่ายที่ครอบคลุมทุกกรณีแล้ว 

การตรวจคัดกรองโควิด-19 โรงพยาบาลจะส่งเบิกจ่ายค่าตรวจที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ครอบคลุมการตรวจกรณีที่มีความเสี่ยง รวมถึงการตรวจในครั้งที่ 2 โดยในส่วนค่ารักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อโควิด-19 จะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ตรวจพบเชื้อ เช่น ผู้ประกันตนจะเบิกจากกองทุนประกันสังคม ข้าราชการจะเบิกจากกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ส่วนประชาชนสิทธิบัตรทองจะเบิกจากกองทุนบัตรทอง

“ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน หากติดเชื้อโควิด-19 ท่านสามารถเข้ารักษา ไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเด็ดขาด โดยโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงไว้แล้วแล้ว โดยจ่ายค่าบริการตามระบบรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน (UCEP) ซึ่งได้รับแน่นอน ทั้งนี้หากถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ให้โทสอบถาม หรือแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330”

ส่วนรายการจ่ายชดเชยโควิด-19 เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่า Lab ค่าเก็บตัวอย่าง ค่ายารักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 และค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรองหรือ State Quarantine (SQ)

กรณีผู้ป่วยใน (IP) จะชดเชยค่า Lab ค่ายารักษา ค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อที่จ่ายตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และค่าห้อง หากเป็นห้องความดันลบ (Negative Pressure) จะจ่ายชดเชย 2,500 บาทต่อวัน ส่วนหอผู้ป่วยเฉพาะกิจทั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel จ่ายชดเชยไม่เกิน 1,500 บาทต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถส่งต่อผู้ป่วย

    นพ.จเด็จ       

นพ.จเด็จ ระบุด้วยว่า ด้วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนย่อมทำให้การใช้ยารักษา ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มสูงเช่นกัน ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลและเงินหมุนเวียนโรงพยาบาล สปสช. ตระหนักต่อภาระนี้ ดังนั้นได้ปรับ “แนวทางการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกรณีโควิด-19” ให้กับหน่วยบริการเร็วขึ้น จากกำหนดรอบเวลาการเบิกจ่ายทุก 1 เดือน เป็นทุก 15 วัน หรือเดือนละ 2 ครั้งแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาล เพื่อไม่กระทบต่อการบริหารและบริการในส่วนอื่นๆ  ขณะเดียวกันทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สปสช. ได้ปรับรอบเบิกจ่ายค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้เร็วขึ้นจากรอบ 1 เดือนเป็นทุก 15 วันมาแล้ว

ทั้งนี้ได้รับการตอบรับจาก นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งประเทศไทย ด้วยโรงพยาบาลมีขนาดและสายป่านบริหารที่ไม่เท่ากัน การปรับรอบการเบิกจ่ายชดที่เร็วขึ้น จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้โรงพยาบาลอย่างมาก

สปสช. พร้อมจ่ายชดเชยกรณีดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ-19