คู่มือ ‘มิชลินไกด์’ ฉบับปี 2565 ซึ่งเป็นฉบับที่ 5 ของไทย รุกขยายขอบเขตการคัดสรร แนะนำร้านอาหารเข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือ ‘อยุธยา’...เมืองแห่งประวัติศาสตร์ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น “เมืองมรดกโลก” โดยองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี 2534
ทั้งนี้อยุธยาถือเป็นเมืองลำดับ 5 ที่ คู่มือ ‘มิชลินไกด์’ ประเทศไทย ฉบับล่าสุด เลือกเข้าไปดำเนินการสำรวจคัดเลือกและจัดอันดับร้านอาหาร
โดยคู่มือฉบับดังกล่าวซึ่งมีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่ปลายปีนี้ในชื่อ ‘มิชลินไกด์กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยธุยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา 2565’ (The MICHELIN Guide Bangkok, Phra Nakhon Si Ayutthaya, Chiang Mai, Phuket & Phang-Nga 2022)
ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัวของอยุธยาในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารสำหรับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ที่เกิดจากการหลอมรวมกลิ่นอายแห่งอดีตเข้ากับความทันสมัยของโลกยุคใหม่อย่างลงตัว หรือการมีกิจกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบสำหรับรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
นายเกว็นดัล ปูลเล็นเนค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เปิดเผยว่า อยุธยาเป็นหนึ่งในเพชรเม็ดงามด้านวัฒนธรรมอาหารไทย การที่เมืองซึ่งเต็มไปด้วยมนต์ขลังและร่องรอยทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางทางการทูตและการค้าระดับโลก
ทำให้ได้รับอิทธิพลจากหลายชาติ อาทิ โปรตุเกส ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทต่ออาหารไทยในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ที่ตั้งซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำ 3 สาย ยังส่งผลให้อยุธยาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งปลาน้ำจืด กุ้งแม่น้ำ ตลอดจนผักและผลไม้สดมากมาย
“เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวปลายปีนี้ จะได้มีโอกาสแนะนำอยุธยาในฐานะเมืองที่บรรยากาศธุรกิจร้านอาหารมีความโดดเด่นเฉพาะตัวบนพื้นฐานของการผสานความเก่าและใหม่เข้าด้วยกันได้อย่างน่าประทับใจ
โดยมีทั้งร้านอาหารเก่าแก่สุดคลาสสิก , ร้านอาหารใหม่ ๆ ในอาคารเก่าที่ผ่านการดัดแปลงปรับปรุงอย่างเก๋ไก๋หรือในอาคารใหม่ที่ออกแบบให้มีรูปลักษณ์ทันสมัย , ร้านกาแฟและคาเฟ่ที่มีมุมสวย ๆ ให้ถ่ายภาพหลากหลายมุม ไปจนถึงร้านเด็ดในตลาดบกและตลาดน้ำพื้นบ้าน ทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายเหล่านี้
ประกอบกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนาน คือเสน่ห์ที่แตกต่างซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกลับมาเยือนอยุธยาอยู่เสมอ” มร.ปูลเล็นเนค กล่าว
ในอดีตเมื่อครั้งที่อยุธยายังเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งเวลานั้นเป็นที่รู้จักในนาม “สยาม” ชาวต่างชาติหลากหลายเชื้อชาติได้เข้ามาตั้งรกรากในอยุธยาและมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการอาหารไทยซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กะทิและเครื่องเทศในแกง [อิทธิพลจากอินเดียและเปอร์เซีย] ต่อยอดพัฒนาเป็นแกงไทยจานเด่น อาทิ แกงมัสมั่น , การใช้ไข่และไข่แดงในการทำขนมไทย [อิทธิพลจากโปรตุเกส] อาทิ ทองหยิบ และทองหยอด
ในวันนี้อยุธยาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ด้านการท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงในปัจจุบัน และยังสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งทางรถไฟและทางเรือ นอกจากนี้ อยุธยายังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจให้เลือกสัมผัส
อาทิ การไหว้พระตามวัดสำคัญ ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล , การเที่ยวชมหมู่บ้านชาวต่างชาติ อาทิ หมู่บ้านญี่ปุ่น หมู่บ้านโปรตุเกส และหมู่บ้านฮอลันดา รวมถึงพิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง อาทิ พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธุ์ และพิพิธภัณฑ์เรือไทย , การนั่งเรือชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำ ฯลฯ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า “นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว การได้ลิ้มลองอาหารอร่อยหลากชนิดจากตลาดพื้นบ้าน หรือร้านอาหารในท้องถิ่น ยังเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยือนอยุธยา
ผมเชื่อว่าชาวไทยและทั่วโลกที่ได้อ่านคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับล่าสุดนี้ จะเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางมาค้นพบเสน่ห์และมนต์ขลังของอยุธยาที่ไม่เคยเสื่อมคลายเหล่านี้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน”
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ได้ที่ : http://guide.michelin.com/th/th หรือติดตามข่าวสารล่าสุดของ ‘มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและพังงา 2565” http://facebook.com/MichelinGuideThailand
พร้อมกับมีการเพิ่ม 3 รางวัลใหม่ ได้แก่ "MICHELIN Guide Service Award" รางวัลสําหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม "MICHELIN Green Star" รางวัลที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ "MICHELIN Guide Young Chef Award" รางวัลที่มอบให้กับเชฟรุ่นใหม่ที่โดดเด่นอีกด้วย
ข่าวเกี่ยวข้อง: