ขณะที่ชาวมอญแถวสมุทรสาคร เรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” หรือ “สไบมอญ” นั่นเอง
สไบที่คนมอญใช้มีหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก ความกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 2 เมตร เนื่องจากคนมอญนิยมห่มสไบแบบเฉียง และใช้คล้องคอแล้วปล่อยชายทั้งสองลงมาด้านหน้า ผ้าสไบของชาวมอญจะต่างจากผ้าสไบของชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยเน้นสีสันจัดจ้าน ชุดแต่งกายมักจะให้สีของสไบเข้ากันกับสีของผ้าถุง และผ้าสไบมอญ ก็นับเป็นงานฝีมือของลูกผู้หญิงมอญอย่างหนึ่ง ที่จะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ไว้อวดฝีมือไม้ลายมือ ยามออกวัดออกวาหรือไปงานรื่นเริง
“จรรยา ทุกข์จาก” เกษตรอำเภอเมืองปทุมธานี เล่าว่า ชาวบ้านตำบลบ้านกระแชง เมื่อว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน ก็มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อให้มีรายได้เสริม โดยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้และนำสมาชิกไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้ทำกิจกรรมการทำอาหารแปรรูป อาทิ “หมี่กะทิโบราณ สูตรชุมชนบ้านเตาอิฐ” ที่มีชื่อเสียงเนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีกรรมวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์
ปี 2559 กลุ่มฯ ได้ทำอีกหนึ่งกิจกรรมคือการ “ปักผ้าสไบมอญ” เพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมด้านการแต่งกายของชาวไทยเชื้อสายรามัญหรือมอญในจังหวัดปทุมธานี โดยการปักด้วยมือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ผ่านลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกมะเขือ ลายเถาดอกไม้ ลายดาวล้อมเดือน และลวดลายที่คิดขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี คือ ลายดอกบัวหลวง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี ให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก รวมทั้งคนในชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมทักษะในการเขียนสไบมอญให้กับทางกลุ่ม ด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติ “อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์” วิทยากรและอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เล่าว่า ทางกลุ่มซื้อสไบมอญที่เขียนลายสำเร็จที่วางขายตามท้องตลาดมาปักมือ ระยะเวลาในการปักมือขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละบุคคล
การเรียนรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอด จากลวดลายเดิมๆ ทำให้เกิดการประยุกต์ ผสมผสานลวดลายแบบเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน เกิดเป็นลวดลายร่วมสมัย ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสไบมอญของทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชงลวดลายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนำไปใช้ในการเขียนสไบมอญแล้ว ยังนำไปต่อยอดในงานอื่นๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุงกระเป๋า ได้อีกด้วย
สไบมอญที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สร้างความน่าสนใจ จนมีออร์เดอร์จากลูกค้า ทำให้เกิดรายได้เสริม ซึ่งสมาชิกของกลุ่มฯ ยังได้นำไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไปต่อยอดให้กับสินค้าอื่นๆอีกด้วย
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 25