มหิดล ปลุกเยาวชน "เลียนปนเล่น" กระตุ้นสมองสร้างสมาธิ

18 ก.ย. 2564 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2564 | 12:28 น.

ม.มหิดล TPAK แนะผู้ปกครอง กระตุ้นสมองเด็กๆ ที่บ้าน ช่วง สถานการณ์ COVID-19 จัดกิจกรรม "เรียนปนเล่น" เสริมกิจกรรมให้แสงดท่าทาง เพื่อวอร์มอัพร่างกาย กระตุ้น ให้พร้อมต่อการเรียนรู้

วันที่ 20 กันยายน ซึ่งตรงกับ "วันเยาวชนแห่งชาติ" ได้เวียนมาอีกครั้งในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชีวิตของผู้คนเหมือนถูกแช่แข็งไว้ในห้องสี่เหลี่ยม โดยมีช่องทางเดียวที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากภายนอก  คือ "โลกออนไลน์" ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เด็กๆ ที่เปรียบเสมือน "เมล็ดพันธุ์" ซึ่งต้องเติบโตภายใต้แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแสงแห่งธรรมชาติ แต่กลับต้องมา "โตหน้าจอ" รับแสงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) เปิดเผยว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งของเยาวชน เกิดจากสมองขาดการกระตุ้น ให้พร้อมต่อการเรียนรู้ ซึ่งผลจากการวิจัยได้พิสูจน์แล้วต่อความเชื่อเดิมที่ว่าช่วงเวลาตื่นนอนเป็นเวลาที่เยาวชนพร้อมต่อการเรียนรู้มากที่สุดนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องที่สุด เพราะการจะทำสมองให้พร้อมต่อการเรียนรู้ เปรียบเหมือนกับการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการออกกำลังกาย โดยจะต้องมีการ "วอร์มอัพ" กันเสียก่อนจึงจะทำให้เกิดสมรรถนะสูงสุดได้ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

การให้เด็กๆ ได้มีกิจกรรมก่อนการนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เชิงวิชาการจะช่วยให้เด็กๆ มีสมาธิได้มากขึ้น ทั้งนี้ ช่วงเวลาของสมาธิจะนานเพียงใดขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วยโดยยิ่งเด็กๆ ที่มีอายุน้อย พบว่าจะสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นานเท่าเด็กโต หรือผู้ใหญ่ จึงต้องมีการจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวคั่นตารางเรียน หรือปรับให้เป็นไปในลักษณะของการ "เรียนปนเล่น" เพื่อให้เด็กๆ เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และไม่ปฏิเสธที่จะเข้าสู่บทเรียนซึ่งต้องใช้การคิดแบบวิเคราะห์ได้ต่อไป

กิจกรรมแนว "เรียนปนเล่น" เพื่อใช้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และผ่อนคลายที่บ้าน ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ กิจกรรม "เรื่องเล่าเป่ายิ้งฉุบ" ที่ให้เด็กๆ ได้เล่นเป่ายิ้งฉุบสลับกับการแสดงท่าทาง เพื่อฝึกประสาทสัมผัสและการเชื่อมโยงของระบบประสาทสั่งการต่างๆ หรือ กิจกรรมการเล่นทายคำ โดยใช้ถ้วยกระดาษโยนเพื่อให้เด็กๆ ได้สลับกันทาย เป็นต้น

จากการที่ TPAK ได้ร่วมวิจัยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการออกแบบกิจกรรมทางกายสำหรับเยาวชนที่ผ่านมาพบว่า รูปแบบการส่งเสริมการเล่นของไทย ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกแบบกติกาในการเล่น การจัดตารางเวลาการเล่น การสอดแทรกทักษะตามช่วงวัยและความรับผิดชอบ และการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย

TPAK เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มานานนับ 10 ปี โดยในระดับประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำ "คู่มือส่งเสริมการเรียนรู้ 3 มิติ "เล่น เรียน รู้" 

และในระดับนานาชาติ คณะวิจัย TPAK นำโดย นายปัญญาชูเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาของ TPAK ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดทำ "คู่มือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กด้วยแนวคิด ACP (Active Child Program)" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศาได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจในฐานะที่ TPAK เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ที่ได้สร้างสรรค์องค์ความรู้เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และได้ผลักดันสู่ระดับนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "Great University Great Contribution" เพื่อการก้าวสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก ของมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและมวลมนุษยชาติ