นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล กล่าวว่า ไอวีแอลมุ่งมั่นสู่ธุรกิจยั่งยืน ด้วยการเป็นผู้ผลิตและรีไซเคิล PET รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิล PET จึงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน สามารถรีไซเคิลขวด PET ทั่วโลกได้มากกว่า 6.7 หมื่นล้านขวด และนำกลับมาผลิตเป็นเส้นใย เส้นด้าย และเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) สามารถตอบสนองความท้าทายในการจัดการพลาสติกใช้งานแล้ว และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา ไอวีแอลได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิล มาผนวกกับความรู้เชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดักจับขยะจากทางระบายน้ำ คู คลอง แม่น้ำ หรือจากแหล่งน้ำไหลอื่นๆ ตลอดจนให้การสนับสนุนถังสำหรับคัดแยกขยะ และการอบรมให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะและการรีไซเคิลแก่หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้การจัดการขยะเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องจัดเก็บด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ พลาสติกที่รีไซเคิลได้อย่างขวด PET ยังสามารถเสริมรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย นำประเสริฐชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อินโดรามา เวนเจอร์ส สนับสนุนโครงการสำนักงานสีเขียวเป็นอย่างดี จนส่งผลให้ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียวตามมาตรฐานระดับประเทศ ระดับดีมาก (G เงิน) จากโครงการ G Green สำนักงานสีเขียว ประจำปี 2563 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับกิจกรรมแรกในปีนี้ วิทยากรของไอวีแอลได้จัดอบรมในหัวข้อ ‘Waste in COVID: ยุคโควิด ยิ่งต้องแยกขยะ’ ทำให้บุคลากรเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการโครงการสำนักงานสีเขียวของของสำนักบริการคอมพิวเตอร์ทำได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การคัดแยกขยะที่ถูกต้องและเหมาะสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลขวด PET ลดการใช้น้ำมันดิบ ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณของเสียที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบเพื่อกำจัด และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ (The UN Sustainable Development Goals) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรและการผลิตอย่างยั่งยืน (SDG12)