ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

13 ต.ค. 2564 | 04:00 น.

รู้หรือไม่ว่า ชุดผ้าไหม ที่ ลิซ่า BLACKPINK ใส่ในมิวสิควิดีโอเพลง LALISA เป็น “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ฝีมือครูศิลป์แผ่นดิน “ปรีชาเกียรติ บุณยเกียรติ”

ที่ได้รับการออกแบบจาก หมู Asava หรือ พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ASAVA (อาซาว่า) ผู้เลือก ผ้าไหมยกดอกลำพูน มาตัดเย็บสำหรับโปรเจคพิเศษ ซึ่งในเพจเฟสบุ๊ก Asava เขียนบรรยายไว้ว่า เครื่องแต่งกายถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสําหรับลิซ่า และผลิตขึ้นเป็นพิเศษด้วยผ้าไหมทองคําโบรชัวร์ผ้าไหมทองคําทอละเอียดด้วยโลหะจาก จ.ลําพูน ชุดเป็นงานปักด้วยมือประดับด้วยคริสตัล Swarovski ที่เป็นประกาย

ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

การที่ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ถูกเลือกใช้ในงานของศิลปินดัง เป็นเพราะความวิจิตรบรรจงจากฝีมือศิลปหัตถกรรมของครูช่างไทย ซึ่งขณะนี้ ไม่เพียงแค่ภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงคุณค่า ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ และสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาย้ำ ถึงความสำคัญของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม เพราะเป็นบุคลากรผู้สืบสานและรักษาอัตลักษณ์ รวมถึงภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรม อันทรงคุณค่าให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน 

ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

“พรพล เอกอรรถพร” รักษาการผู้อำนวยการ สศท. ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า หน้าที่สำคัญของ สถาบันฯ คือการดูแลงานศิลปหัตถกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพและผลักดันการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่ง สศท. พร้อมรับนโยบาย “เราจะไม่ทิ้งครูช่างไว้ข้างหลัง” ของกระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผ่านมา สศท.ได้ดำเนินกิจกรรมเชิดชูเกียรติบุคคลเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” 

ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า
 

ปัจจุบันมี ครู-ทายาทฯ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูแล้วรวมทั้งสิ้น 413 ราย แบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 103 ราย ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 230 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 80 ราย สศท. ได้รวบรวมชีวประวัติ ผลงานและองค์ความรู้ในการทำงานศิลปหัตถกรรมของผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ เพื่อรักษาข้อมูลองค์ความรู้ในงานหัตถกรรมแต่ละประเภท โดยเฉพาะในงานหัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยรายให้คงอยู่ ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย 

ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

อีกหนึ่งงานสำคัญ ที่ สศท. กำลังเร่งดำเนินการ คือ การส่งเสริมศักยภาพความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด รวมถึงการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ดังนั้น ที่ผ่านมา จึงเห็นสศท.จัดงานส่งเสริมการขายและการตลาดให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ สถาบันอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ดูแลเรื่องรูปแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการนำอัญมณีมาเสริม เพื่อเพิ่มมูลค่ากับงานศิลปหัตถกรรมบางประเภท ให้เหมาะตรงกับความต้องการของตลาด และให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทุกรูปแบบทุกแพลตฟอร์ม โดยให้ประสานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด
  ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

ส่วนภาคเอกชน ที่เปิดพื้นที่สำหรับงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็เช่น “ไอคอนคราฟต์” ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ที่ใช้พื้นที่จัดงานกิจกรรมมากมาย อาทิ “ผ้าย้อมสีธรรมชาติ 12 ชุมชน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรรมผ้าไทย ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ที่จัดขึ้นตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา และยังมีกิจกรรม พร้อมดีลสำหรับนักช้อปที่รักงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง 
  ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

หากทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยเช่นนี้ ไม่เพียงจะทำให้ครูช่างและทายาทฯ หรือผู้สืบสานมรดกทางภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ เกิดกำลังใจและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หากแต่มรดกทางวัฒนธรรมของไทยก็จะคงอยู่อย่างมีคุณค่า และสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยได้ตลอดไป

ไม่ลืม ‘ครูช่าง-ทายาท’ งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 -13 ตุลาคม พ.ศ. 2564