"สื่อสาร" ทักษะสุดท้ายของมนุษย์ที่ยังเหนือกว่า AI

28 ต.ค. 2564 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 19:32 น.

"ทักษะการสื่อสาร" อาจเป็นทักษะสุดท้ายของมนุษย์ ที่ยังเหนือกว่า AI เรื่องนี้จริงหรือไม่ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT มีคำตอบ

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า แม้มนุษย์จะมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น สามารถคิดและจินตนาการที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ แต่มนุษย์ก็ได้เคลื่อนเข้าสู่ข้อจำกัดวิวัฒนาการทางชีวภาพ และช่องว่างนี้กำลังถูกแทนที่ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่มีความรวดเร็วในการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ทำให้สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ในเกือบทุกการแข่งขัน 

หมุดหมายแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1997 เมื่อ ดีปบูล คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐของไอบีเอ็ม เอาชนะแกรี คาสปารอฟ แชมป์หมากรุกโลกแบบเฉียดฉิว 2 ต่อ 1 เกม อีก 14 ปี ต่อมา ไอบีเอ็มวัตสัน เป็นผู้ชนะเกมโชว์ในรายการตอบปัญหาเชาว์ Jeopardy ถัดมาในปี ค.ศ. 2018 โอเพนเอไอไฟว์ ของอีลอน มัสก์ สามารถเอาชนะทีมแชมป์โลกเกมวางแผนยุทธศาสตร์แบบขาดลอยในกีฬา อีสปอร์ตโดตา 2 รวมทั้ง ลิบราตัส AI ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน ก็เล่นชนะแชมป์โป๊กเกอร์ระดับโลก ในการแข่งขันแบบเท็กซัส โฮล เอ็ม 

นอกจากนี้ AI ที่พัฒนาร่วมกันโดยไมโครซอฟท์และอาลีบาบา ก็สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในแบบทดสอบการอ่านจับใจความของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่วนอัลฟาโกะซีโร่ เวอร์ชั่นล่าสุดของอัลฟาโกะ ใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตนเองเพียง 3 ชั่วโมง ในการเอาชนะอัลฟาโกะที่เคยเล่นหมากล้อมชนะอี เซดล เจ้าของแชมป์โลกหมากล้อม 18 สมัย 

สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ยอมรับว่า ความสำเร็จในการสร้าง AI คือปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่ในทางกลับกัน ฮอว์กิ้นทำนายว่าหายนะของโลกในอนาคต อาจเกิดจากการที่เทคโนโลยีสามารถพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง เข้าใกล้กับสิ่งที่ เรอเน เดการ์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เคยกล่าวไว้ว่า ‘I think, therefore I am’ ซึ่งหมายถึงการมีอยู่ของการคิดเท่านั้นที่สำคัญ ร่างกาย สิ่งรอบตัว หรือประสาทสัมผัสทั้งหลายอาจมีอยู่ หรือไม่ก็ได้

การพัฒนา AI ที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ อาจทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ดูด้อยค่าลง แต่การถือครองอาวุธชิ้นสุดท้าย ที่ยังคงทำให้มนุษย์อยู่ในจุดได้เปรียบกว่า AI คือ ทักษะความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence)  และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) การทดสอบที่น่าสนใจในเรื่องนี้ คือ การดีเบตซึ่งต้องอาศัย ‘วาทศิลป์’ ในการโน้มน้าวความคิดของผู้ฟัง ในปี ค.ศ. 2019 มีการแข่งขันโต้วาทีในประเด็นที่ไม่แจ้งล่วงหน้า หัวข้อ ‘งบอุดหนุนการศึกษาระดับอนุบาล’ ระหว่าง ฮาริช นาทาราจาน เจ้าของสถิติชนะการดีเบตบนเวทีระดับนานาชาติมากที่สุดในโลก ที่มีเพียงปากกา กระดาษโน้ต สมอง และทักษะ ในการโน้มน้าวใจเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ฟัง กับ มิส ดีเบตเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็ม ที่สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลเอกสารและงานวิจัยได้มากกว่า 1 หมื่นล้านเรื่อง จุดประสงค์ของการแข่งขันไม่ใช่การทำคะแนนได้สูงสุดแต่เป็นการพยายามเปลี่ยนความคิดของผู้ฟังให้คล้อยตามให้ได้มากที่สุด

ในระหว่างการโต้วาทีที่ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มิส ดีเบตเตอร์ ใช้ฐานข้อมูลงานวิจัยจำนวนมาก ที่มีผลเชิงประจักษ์ช่วยประมวลสร้างข้อความและวางโครงสร้างเนื้อหาที่ประกอบด้วยหลักฐาน เหตุผล และตรรกะ เพื่อสนับสนุนประเด็นการอภิปราย จนสามารถสร้างวลีและประโยคที่สวยงามและใช้คำในบริบทต่างๆ ได้ดีกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ ในขณะที่นาทาราจาน โน้มน้าวผู้ฟังผ่านการใช้ทักษะทางอารมณ์และสังคม เพื่อสื่อสะท้อนกลับไปสู่มนุษย์ด้วยกัน 

ภายหลังการโต้วาทีสิ้นสุดลง ผู้ชมสดในห้องประชุมกว่า 800 คน ลงคะแนนให้นาทาราจาน เป็นผู้ชนะ เนื่องจากสามารถโต้ตอบได้ตรงประเด็นมากกว่า ขณะที่มิส ดีเบตเตอร์ ใช้การอธิบายแบบประเด็นต่อประเด็นมากกว่าการโต้แย้ง ข้อได้เปรียบของนาทาราจาน คือ "ทักษะในการสื่อสาร" ที่ประกอบด้วยการวางจังหวะ โทนเสียง รวมทั้งการหยุดและตั้งคำถามกลับไปยังผู้ฟัง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์พ่ายแพ้ต่อนาทาราจาน เนื่องจากใช้น้ำเสียงที่ราบเรียบเป็นโทนเดียวกันตลอดการอภิปราย ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังจนสร้างการยอมรับได้ ทักษะของนาทาราจาน ในการเชื่อมสัมพันธ์กับอารมณ์ของผู้ฟังถือเป็นอาวุธลับที่ยังคงอยู่ในการครอบครองของมนุษย์ 

ในอีกด้านหนึ่ง ความพ่ายแพ้ของ AI ในเรื่องดังกล่าว อาจเป็นแค่ภาพลวงตาของความคิดที่ว่า สุดท้ายแล้วอำนาจที่แท้จริงอยู่กับคนที่สร้างมันขึ้นมา เราอาจลืมตระหนักไปว่าในการแข่งขันนั้น มนุษย์เป็นผู้ตั้งโจทย์ วางกรอบกติกา รวมทั้งยังเป็นผู้กำหนดเอาเองว่าคำตอบที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค ‘เมตาเวิร์ส (Metaverse)’ ในวันที่ผู้คนในร่างอวตาร (Avatar) และ AI สามารถมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันบนพื้นที่เสมือนจริง (Virtual Reality) และพื้นที่เสริมจริง (Augmented Reality)

ถ้าวันนั้นเทคโนโลยี AI ถูกพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถคิดและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เราอาจได้เห็นระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่กำหนดโดย AI และคำตอบอาจไม่ใช่แค่การแพ้ หรือชนะ เท่านั้น แต่หมายถึงการสิ้นสุดความจำเป็นในการมีอยู่ของตัวตนของมนุษยชาติ ดังที่ เรอเน เดการ์ต ได้เคยตั้งคำถามล่วงหน้าเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว