ปิดตำนาน“ล้ง 1919”แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ไทย-จีน 1ธ.ค.64

01 ธ.ค. 2564 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 17:41 น.

ปิดตำนาน “ล้ง 1919” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 1 ธันวาคม64 ก่อนพลิกโฉมเป็น“The Integrated Wellness Destination” แลนด์มาร์กด้านสุขภาพระดับสากลริมน้ำเจ้าพระยา

 “ล้ง 1919LHONG1919 แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามตลาดน้อย บ้านทรงจีนอายุร้อยกว่า 170ปี ได้ปิดตัวลงแล้ววันนี้ นับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นี้เป็นต้นไป หลังจากบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)หรือ AWC ได้เช่าที่ดินจากตระกูลหวั่งหลี เป็นเวลา 64 ปีเศษ เพื่อสร้างเป็น “The Integrated Wellness Destination” แลนด์มาร์กด้านสุขภาพระดับสากลริมน้ำเจ้าพระยา ภายใต้การลงทุนกว่า 3,436 ล้านบาท

 

ล้ง1919

ล้ง1919

 

ล้ง1919

 

เราจะพาย้อนอดีตถึง “ล้ง 1919”ย่านคลองสาน ที่เพิ่งปิดตำนานลงไป ความเป็นมาของ “ล้ง 1919” สถานที่แห่งนี้เคยเป็นท่าเรือมาก่อน โดยคำว่า “ล้ง” มาจากชื่อเดิมว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 ท่าเรือนี้มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันนี้รู้จักกันในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย – เยาวราช

 

ล้ง 1919

ตามประวัติแล้ว ตระกูลหวั่งหลีได้ซื้อต่อจากต้นตระกูลพิศาลบุตร ในอดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คือท่าเรือกลไฟ คือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น

 

ล้ง1919

สถาปัตยกรรมของ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ถูกออกแบบและก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เป็นหมู่อาคารแบบ “ซาน เหอ ย่วน” ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัวยูมีพื้นที่ว่างตรงกลาง ระหว่างอาคารทั้ง 3 หลัง ใช้เป็นลานอเนกประสงค์ โดยมีอาคารประธานเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว”  ซึ่งคนจะไปขอพรเรื่องความรัก และสุขภาพ ส่วนอาคารด้านข้างใช้สำหรับ เป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

 

ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว

ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว

ล้ง1919

ล้ง1919

 

โดยอาคารหมู่เรือนแถวไม้ถูกออกแบบด้วยการวางผังสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ ซึ่งมีเพียงไม่กี่หลังที่ยังหลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา งดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิถีชีวิต ที่เป็นเรื่องราวมาจากนวนิยายจีนโบราณเรื่องดัง บนผนังปูนรอบหน้าต่างและประตู ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 170 ปี

 

ล้ง1919

ที่ผ่านมาตระกูล “หวั่งหลี” ได้อนุรักษ์ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” โดยมีการปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็น โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งท่องเที่ยวแนว Heritage ที่โดดเด่นด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ขึ้นมา และยังคงสภาพงดงามตามสภาพที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบัน ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนขอบประตูและหน้าต่างให้คงสภาพเดิมโดยใช้วิธีแบบโบราณ ด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด

ล้ง1919

 

ล้ง1919

วันนี้แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้จะปิดตัวลง เหลือเพียงตำนานก่อนที่จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านสุขภาพระดับโลกต่อไป ซึ่ง AWC (บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) จะพัฒนาให้พื้นที่นี้กลายเป็น“The Integrated Wellness Destination”สำหรับคนรักสุขภาพทั่วโลก ที่จะประกอบด้วยโรงแรมหรู 86 ห้องพัก เรสซิเดนซ์หรู 56 ยูนิต ภายใต้การบริหารโดย “เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน โฮเทล คอมพานี” (The Ritz-Carlton Hotel Company) และการให้บริการ และบริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม  เจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มลักซ์ชัวรี่ ที่เตรียมเปิดบริการครบวงจรปี 2569