โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) มีอุบัติการณ์เป็นอันดับที่ 5 ของโรคมะเร็ง ทั้งหมด และถือเป็น สาเหตุการตายอันดับที่ 3 จากการตายจากโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ในผู้ชาย และอันดับที่ 9 ในผู้หญิง โดยมีอุบัติการณ์ที่ 5 รายในประชากร 100,000 คน ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อย ในคนไทยแต่ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทย มักพบในระยะท้ายของโรค และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้น อย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะ เมื่อมะเร็งมีขนาด ใหญ่ขึ้น จะเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ได้
ปัจจัยเสี่ยง
อาการ
ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย
การวินิจฉัยโรค
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี การย้อมสีที่เยื่อบุและการขยายภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรคได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา
ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและการรักษา การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้าย การกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือไม่ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย คณะแพทย์ซึ่งประกอบ ด้วยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์แพทย์ และแพทย์รังสีรักษา ทำการปรึกษาร่วมกันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด
มะเร็งระยะเริ่มแรก (early gastric cancer) หมายถึงมะเร็งที่อยู่เฉพาะชั้นเยื่อบุส่วนบนของกระเพาะอาหาร โดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการทำการตรวจส่องกล้องสำหรับการตรวจสุขภาพ สามารถทำการรักษาด้วยการตัดผ่านกล้องส่องตรวจทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีการกระจายของมะเร็งไปที่ต้อมน้ำเหลืองน้อยมาก และได้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยมีอัตราการอยู่รอดที่ 10 ปีมากกว่า 80 เปอร์เซนต์
สำหรับ มะเร็งในระยะลุกลาม (advanced gastric cancer) หมายถึง มะเร็งที่มีการลุกลามเข้าสู่ชั้นเยื่อบุส่วนล่าง หรือ กล้ามเนื้อของกระเพาะอาหาร สามารถมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองได้มากกว่ามะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นมะเร็งระยะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยคนไทย ผู้ป่วยมักจะมีอาการ เช่น อืดท้อง อาหารไม่ย่อย หรือ มีเลือดออกในกระเพาะ มาซักระยะหนึ่ง
การรักษาหลักของมะเร็งระยะนี้คือการผ่าตัดกระเพาะ ร่วมกับการผ่าตัดเลาะเอาต่อมน้ำเหลือง โดยรอบออก และให้การรักษาเสริมหลังผ่าตัดด้วยยาเคมีบัด เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง โดยในปัจจุบันในรายที่เหมาะสม การผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยเทคนิค การผ่าตัดส่องกล้องซึ่ง ได้ประโยชน์ในแง่ของ การฟื้นตัวที่เร็วกว่า ความปวดจากแผลผ่าตัดที่น้อยกว่า โดยไม่มีความแตกต่างกันของผลการผ่าตัดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิด
มะเร็งระยะแพร่กระจาย หมายถึงมะเร็งระยะที่มีการกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ช่องท้อง ปอด หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป การรักษาหลักของระยะนี้คือการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด การผ่าตัดจะทำในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง เช่น ทางเดินอาหารอุดตัน หรือเลือดออกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะมีการพยากรณ์โรค ที่ไม่ดี แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จนสามารถกลับมา ทำการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลนนทเวช