ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) อธิบายว่า ‘กำแพงเบอร์ลิน’ มีความยาว 155 กิโลเมตร สูง 3.6 เมตร เริ่มก่อสร้างในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961เพื่อแบ่งแยกเมืองเบอร์ลินในเยอรมันตะวันออก เป็นส่วนตะวันตกและตะวันออก ในช่วงสงครามเย็นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมในการแบ่งขั้วระหว่าง ‘โลกเสรี’ และ ‘โลกคอมมิวนิสต์’
ในระหว่างที่กำแพงยังตั้งอยู่ มีความพยายามหลบหนีข้ามแดนราว 5,000 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 100-200 คน แม้จะดูมั่นคงแต่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินกลับเป็นไปอย่างฉับพลัน จนถูกเรียกว่าเป็นปาฏิหารย์ทางประวัติศาสตร์
เรื่องเกิดขึ้นในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1989 เมื่อ กินเทอร์ ชาบ็อฟสกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ ของเยอรมันตะวันออกได้แถลงข่าวว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพรมแดนให้ชาวเยอรมันสามารถเดินทางผ่านแดนได้อย่างอิสระ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ‘เมื่อไหร่’ ชาบ็อฟสกี ก็ตอบว่า ‘เท่าที่ผมทราบ ทำเลยในทันที’ (ซึ่งภายหลังพบว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเขาเอง)
เมื่อข่าวกระจายออกไป ทำให้ผู้คนนับหมื่นมุ่งไปที่กำแพงรวมตัวกันที่จุดตรวจหกแห่ง และเริ่มต้นทุบทำลายบางส่วนของกำแพงด้วยค้อนและสิ่ว จนเกิดความโกลาหล เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากทางการ
ในที่สุดเวลา 22.45 น. ผู้บัญชาการของจุดผ่านแดนก็ยอมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เปิดด่าน และปล่อยให้ผู้คนผ่านโดยมีการตรวจสอบตัวตนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในคืนนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญลักษณ์ในการรวมชาติเยอรมันในเวลาต่อมา
จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล นักปรัชญาชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมว่า เป็นพลวัตของความขัดแย้ง กล่าวคือ สภาวะหนึ่งใดที่ดำรงเป็นหลักอยู่ เรียกว่า กระแสหลัก (Mainstream) ย่อมถูกท้าทายด้วยอีกสภาวะหนึ่งซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม ที่เรียกว่าทวนกระแส (Radical) การปะทะต่อสู้กันระหว่างสองสภาวะนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าถูกเร่งเข้าสู่จุดวิกฤต จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะใหม่ ซึ่งถ้าองค์ประกอบลงตัว จะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นปรากฏการณ์ ‘Amplifier Effect’ เปลี่ยนไปสู่สภาวะใหม่แบบฉับพลัน เช่น กรณีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดอารมณ์ร่วมสาธารณะ (Public Mood) ที่คนจำนวนมากรวมตัวทำในสิ่งเดียวกัน จนขยายตัวไปสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในชั่วข้ามคืน
ฮย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบฉับพลันทันใด ไปสู่สภาวะใหม่โดยปราศความรุนแรง มีโอกาสสำเร็จได้ยาก ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงแบบสันติ จะเกิดจากการสะสมความเปราะบางของกระแสหลัก และการยอมรับกระแสรองจากสถานการณ์เล็กๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ดังเช่นที่ แม่ชีเทซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้ได้เคยกล่าวไว้ว่า
‘ฉันคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่ฉันสามารถโยนหินลงไปในน้ำเพื่อสร้างระลอกคลื่น และแต่ละระลอกคลื่นก็จะสร้างระลอกคลื่นอีกจํานวนมาก’
การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการแผ่ขยายของระลอกคลื่น (Ripple Effect) แม้จะใช้เวลานานแต่ในที่สุดก็สามารถสร้างพลังมากพอที่จะนําไปสู่การทำลายความมั่นคงของกระแสหลักโดยปราศจากความรุนแรงได้
การเปลี่ยนแปลงสังคมแบบระลอกคลื่นต้องอาศัยการสร้างความต่อเนื่องของสถานการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘คอยเขย่าไว้อย่าให้นอนก้น’ ในช่วงแรกผู้ที่ได้ประโยชน์ในสังคมเดิมที่เป็นกระแสหลักย่อมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ การแผ่ขยายของระลอกคลื่นกระแสรองอย่างต่อเนื่อง คือการใช้เวลาสะสมข้อมูลความรู้ วิเคราะห์ที่มาของปัญหา สร้างความเข้าใจ และแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้ จนเกิดทัศนคติที่สอดคล้องกันกลายเป็น ‘ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน’ และถ้าผ่านกระบวนการลงประชามติ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็น ‘มติมหาชน’ กลายเป็นกฏหมาย หรือบรรทัดฐานใหม่ของสังคมในที่สุด
ในยุคดิจิทัลการใช้ดัชนีถ้อยคำ # หรือ ‘Hashtag’ ช่วยแพร่กระจายการสื่อสาร (Viral) ที่ท้าทายทัศนคติและความเชื่อกระแสหลักที่เคยเป็นความเห็นส่วนใหญ่เดิมได้อย่างรวดเร็ว ถ้าได้ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) เข้ามาร่วมด้วยจะยิ่งช่วยขยายแรงกระเพื่อมให้กว้างและเร็วขึ้น จนกลายเป็นพลังขับเคลื่อนทำให้ทัศนคติ และความเชื่อเดิมขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจกระทบลงไปถึงค่านิยมของสังคม เกิดเป็นกระแสการเคลื่อนไหวที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้
เช่น ผู้ใช้ Twitter และผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ช่วยกันส่งต่อ #MeToo หรือ “ฉันด้วย” เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปทั่วโลก เพื่อประณามการยอมรับพฤติกรรมคุกคาม และการประทุษร้ายทางเพศ หลังจากฮาร์วีย์ ไวน์สตีน อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลในฮอลลีวูด วัย 67 ปี ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบทางเพศมายาวนานกับดารานักแสดงหญิงจำนวนมาก และในที่สุดคณะลูกขุนแห่งศาลนครนิวยอร์กได้ตัดสินให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน มีความผิดจริง และต้องโทษจำคุกถึง 23 ปี
# ไม่ได้สร้าง ‘Amplifier Effect’ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน แต่เป็นเสมือนระลอกคลื่นที่สร้างปรากฏการณ์สังคมแบบ ‘Ripple Effect’ ช่วยขยายความเข้าใจและสร้างอารมณ์ร่วมสาธารณะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม จนนิตยสาร TIME ยกให้ #MeToo เป็นบุคคลแห่งปีประจำ ค.ศ. 2017