70% องค์กรธุรกิจ ที่ทำ Digital Transformation ทำไมไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้า

05 ก.พ. 2565 | 05:20 น.

จากผลการศึกษาของสถาบันต่างๆ ทั่วโลก พบว่า 70% ของการทำ Digital Transformation องค์กร ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากปัญหาในเรื่องของ “คน” ที่ยังไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

“พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารแพคริม กรุ๊ป กล่าวว่า แพคริม กรุ๊ป ได้จับมือกับ Skooldio เพื่อปิดช่องว่าง เพิ่มโอกาสความสำเร็จ และขับเคลื่อนอัตราเร่งการทำ Digital Transformation ให้องค์กรในประเทศไทย โดยการนำแพชั่น รวมถึงความเชี่ยวชาญที่ทั้ง 2 องค์กรมี มาร่วมพัฒนาหลักสูตรและโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์และช่วยองค์กรต่างๆ ในการทรานสฟอร์ม

 

การทำ Digital Transformation หรือการทรานส์ฟอร์มอะไรก็ตาม สิ่งจำเป็นคือ การต้องดีลกับคน การสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความพยายามพอสมควร โดยมีความท้าทายหลักๆ 4 กลุ่ม

คือ 1. กลัวการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้า ไม่ adopt ไม่ร่วมมือ ฯลฯ 2. ทิศทางไม่ชัดเจน ไม่มีโฟกัส สื่อสารไม่ดี ขาดคอมมิทเม้นท์ร่วมกัน 3. ปัญหาด้าน ระบบโครงสร้าง การขาดข้อมูลที่มีคุณภาพ การจัดสรรทรัพยากรและการ alignment

 

และ 4. ความเป็นผู้นำ มายด์เซ็ต ทักษะ เรียนรู้ช้า ขาดการมีส่วนร่วม ฯลฯ  

สำหรับแนวทางที่จะแก้ปัญหาความท้าทาย ทั้ง 4 เรื่องหลัก ผู้นำต้องสร้างความเข้มแข็งใน 4 ด้านคือ 
 

  1. สร้างความน่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจให้เพิ่มขึ้น (trust)  
  2. ความชัดเจน: ยิ่งข้างนอกยิ่งเปลี่ยนแปลงเยอะมาก Leadership Team ยิ่งต้องมีความชัดเจน และมีโฟกัส (อย่าเยอะ) มีการจัดลำดับความสำคัญ สื่อสารให้ชัดเจน
  3. จัดการกับ Legacy เก่าๆ  เช่นระบบ หรือกระบวนเดิมๆ บางอันที่ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ขององค์กร หรือไม่สนับสนุนพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับคนของเราในองค์กร
  4. ปลดล็อกหรือพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กร

 

“วันนี้ผู้นำเก่งคนเดียวไม่ไหว คงจะไม่รอด ต้องคิดว่าเราจะเอาความเฉลียวฉลาด ความเก่งทั้งหมดที่มีอยู่ในองค์กร เอาออกมาใช้ได้อย่างไร” 
 

“ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Skooldio เสริมว่า Data-Driven Culture เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ ที่ผ่านมาหลายองค์กรทำบิ๊กดาต้า พร้อมๆ กับมีทาเลนต์ที่พร้อมขับเคลื่อน แต่เอาเข้าจริง กลับทำอะไรได้ไม่มาก เพราะองค์กร หรือผู้นำองค์กรไม่เปิดโอกาสให้เขามีบทบาท หรือมีความสำคัญ เพราะไม่ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจ หรือให้แนวทางที่ชัดเจน พร้อม
สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เกื้อหนุน ฯลฯ 
 

นอกจากนึ้ คนในองค์กรที่เหลือ (non-technical staff) ก็ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการนำเอาดาต้ามาใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีทักษะในการนำเอาไปใช้ วิเคราะห์ ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน เรื่อง Data Literacy ถือเป็น Hard Skills อันใหม่ที่ทุกคนเห็นด้วยว่ามีความสำคัญ
 

อีกสิ่งที่ยากที่สุดคือ การนำคำ 2 กลุ่ม คือ Technical กับ Non-Technical staff มาคุยกัน หากคุยกันรู้เรื่องเมื่อไร จะทำให้ผู้นำองค์กรมองเห็นโอกาสและสามารถตีความหมายและประยุกต์ insight จากข้อมูลมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องง่ายๆ (low-hanging fruit) ที่หลายองค์กรเสียโอกาสตรงนี้ไปเยอะมาก จริงๆ แล้ว ในระยะยาวคนฝั่งเทคนิคัลควรจะพยายามทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจ ขณะที่คนฝั่ง non-technical ก็ควรจะพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจด้านเทคนิค เพื่อให้คุยกันรู้เรื่องและสามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าได้สูงสุด 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565