มีข้อมูลพบว่าผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงขึ้น แต่บ่อยครั้งที่พบในผู้หญิงอายุ 30-45 ปี ที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนและมีน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน
พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรีและหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า เมื่อมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะทำให้ร่างกายมีไขมันสะสมในปริมาณที่มากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การวินิจฉัยที่ให้ผลเที่ยงตรงว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่นั้น ทำได้ด้วยการวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายด้วยเครื่อง DEXA scan โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แต่เบื้องต้นก็สามารถประเมินด้วยการวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณไขมันในร่างกายได้ ซึ่งในคนเอเชีย ถ้ามีค่า BMI เกินกว่า 23 ขึ้นไป ก็จะถือว่าน้ำหนักเกิน และหากค่าตั้งแต่ 25 ขึ้นไปก็จัดว่าเป็นโรคอ้วน และมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะโรคอ้วน ไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่ยังพบว่าเป็นสาเหตุร่วมในโรคทางนรีเวช รวมถึงโรคมะเร็งอีกด้วย
นอกจากนี้ รูปร่างที่เปลี่ยนไปของผู้หญิง ยังมีข้อบ่งชี้ที่เกี่ยวกับโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ หลายการศึกษาระบุถึงรูปร่างผู้หญิงอ้วน ซึ่งสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนและโรคทางนรีเวช โดยพบว่าผู้หญิงรูปร่างทรง “ลูกแพร์” จะมีไขมัน สะสมบริเวณสะโพกและต้นขามาก และมักมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในสัดส่วนที่สูง หลายคนมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ หรือมีอาการผิดปกติที่เกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) เช่น ตัวบวม หน้าบวม หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ เป็นต้น
ส่วนผู้หญิงรูปร่างทรง “แอปเปิ้ล” หรืออ้วนลงพุง มักจะมีลักษณะอาการของกลุ่มเมตาบอลิก เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่รอบอวัยวะในช่องท้อง (Visceral fat) มีผลทำให้ระบบการเผาผลาญผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดัน โลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal พบว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างทรง “แอปเปิ้ล” มีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าทรง “ลูกแพร์” ถึง 3 เท่า และอาจมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ มีลักษณะหน้ามัน เป็นสิว ผมร่วง หรือกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome: PCOS) และมีโอกาสที่จะมีบุตรยากร่วมด้วย
โรคอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน และเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิงที่สร้างจากรังไข่จะหมดไป แต่ยังมีการผลิตฮอร์โมนนี้จากเซลล์ที่เนื้อเยื่อไขมัน ในผู้หญิงที่อ้วนจึงมีแหล่งเอสโตรเจนจากเนื้อเยื่อไขมันมาก มีหลายการศึกษาพบว่า ปัญหามะเร็งที่มีความไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เพราะ 80% ของการเกิดมะเร็งเต้านมพบว่า สัมพันธ์กับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ขณะที่ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ
“บ่อยครั้งที่พบว่า คนไข้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีปัญหาเรื่องฮอร์โมนไม่ปกติตั้งแต่ก่อนประจำเดือนจะหมด หลายรายมองข้าม เรื่องเหล่านี้ไป ไม่ได้ดูแลควบคุม และพบว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย การสะสมของไขมันที่มีมากซึ่งเป็นอีกแหล่งที่ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวผิดปกติ และพัฒนาเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเริ่มจากอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด” พญ.ธิศรา กล่าว
ปัญหาของการลดน้ำหนักที่ไม่ได้ผล ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แฝงอยู่ในความอ้วนนั้น ซึ่งการวินิจฉัยและรักษาโดยศาสตร์การแพทย์เฉพาะเจาะจง (Precision medicine) จะทำให้ค้นพบปัญหา และวางแผนการรักษาได้ตรงจุดอย่างได้ผล ได้แก่ การตรวจไขมันสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย DEXA scan การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ การตรวจยีนที่สามารถจะบอกถึงรูปแบบอาหารที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพและการควบคุมน้ำหนัก การเผาผลาญ ความไวต่ออาหาร หรือความสามารถในการขจัดสารพิษ แนวโน้มการขาดวิตามิน รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมและส่งผลให้ควบคุมน้ำหนักได้” พญ.ธิศรา กล่าว
ทุกคนควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้น ไม่ควรให้เจ็บป่วยแล้วจึงมาพบแพทย์ เพราะการมีสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแต่เป็นการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง แต่ส่งผลถึงภาพลักษณ์ ผิวพรรณ และรูปร่างที่ดีตามมาเมื่อดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอจะพบว่า สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาความอ้วนที่แฝงอยู่ในร่างกายได้ตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรก ทั้งที่มองเห็นภายนอกและซ่อนอยู่ในรูปแบบอ้วนลงพุง เป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย ความอ้วนไม่ใช่ปัญหาของรูปร่าง แต่เป็นโรคที่มีข้อมูลทางการแพทย์บ่งถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว ประเมินตัวเองตั้งแต่วันนี้ ถ้าพบว่าเริ่มอ้วน เริ่มลงพุง มีน้ำหนักเกิน ควรรีบควบคุม ลดน้ำหนัก หรือปรึกษาแพทย์ อย่าปล่อยให้ความอ้วนลุกลามจนเป็นโรคได้ในที่สุด