รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ซึ่งมี"ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา" ทำหน้าที่ขับเคลื่อน "โครงการหยั่งรากจิตตปัญญา" ด้วยการใช้ "จิตตปัญญา" เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ที่มนุษย์ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของโลก
"จิตตปัญญา" เป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานกับมิติด้านในของมนุษย์ เน้นการศึกษาเพื่อสร้างความตื่นรู้ของจิต เพื่อเป็นฐานของการสร้างปัญญาในการเข้าไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิตอย่างเท่าทันและถูกต้อง โดยกระบวนการทางจิตตปัญญาที่ใช้ในการขับเคลื่อนตามแผนการส่งเสริม "สุขภาวะทางปัญญา" ของ สสส. มีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่หนึ่ง การบ่มเพาะกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะทางปัญญา
ระยะที่สอง การขยายผลสู่สถาบันต้นแบบสุขภาวะทางปัญญา
และระยะที่สาม ยกระดับสถาบันต้นแบบต่างๆ ขึ้นสู่การเป็นเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญาที่เข้มแข็งในกลุ่มสถาบันการศึกษา
เป้าหมายสุดท้าย คาดหวังว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดสถาบันการศึกษาต้นแบบที่มี "หัวใจความเป็นมนุษย์" ในประเทศไทย
ในปัจจุบันความร่วมมือดังกล่าวอยู่ในระยะแรกที่มุ่งสร้างกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษา และการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองและบริบทใกล้ตัวที่ตนเองร่วมงานอยู่
กลุ่มเป้าหมาย คือ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ กลุ่มวิทยาลัยพยาบาล และกลุ่มสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังขับเคลื่อนงานผ่านวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา "Mindfulness Campus" ร่วมกับ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลในการใช้แนวคิดและกระบวนการทางจิตตปัญญา เข้าไปขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน และทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 - 26 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดประชุมวิชาการ "จิตตปัญญาสิบห้าปีการเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้สร้าง "Change Agents" ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย ที่พร้อมเป็น "พลังสำคัญ" ในการออกไปขยายผลสู่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณสุขท้องถิ่น ตลอดจนวิทยาลัยการพยาบาล และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เพื่อสร้าง"เมล็ดพันธุ์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์" พร้อมปลูกให้กับ"อนาคตของชาติ" เพื่อให้พร้อมเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการศึกษาของชาติที่สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป
คณะทำงานขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางจิตตปัญญาศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่า เมื่อประชาชนชาวไทยได้รับการติดตั้ง "อาวุธทางปัญญา" แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ จากการใช้อำนาจ ไปสู่การพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ จนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และเกิดความร่วมมือที่จะนำไปสู่การมีเป้าหมายร่วมกัน หรือสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด