เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การรับรสที่เปลี่ยนแปลงไป สายตามัวลง หูได้ยินไม่ชัดเจน ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวลดลง รวมถึง การนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย
“การนอนหลับ” เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีพ ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ ได้แก่ จำนวนชั่วโมงในการนอนลดลงเล็กน้อย มีการตื่นระหว่างคืนมากขึ้น มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โรคประจำตัวหรือยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการนอนหลับ บรรยากาศในบ้านพัก การขาดกิจกรรมระหว่างวัน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง ดังนั้น บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม
“นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์” ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแพทย์มักจะรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่จะให้ผู้สูงอายุฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา รับประทานอาหารให้พอดี
ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าและบ่าย งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ งดอ่านหนังสือ งดดูโทรศัพท์มือถือและงดดูโทรทัศน์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที
หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน
นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลงทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นการรักษาโดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุ
แม้หลายคนอาจจะมองว่า “การนอนหลับ” เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงการนอนหลับพักผ่อนที่ดีมีคุณภาพ จะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของสมองที่ห้ามมองข้ามเลยทีเดียว
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,781 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565