เนื่องด้วยสัปดาห์โรคภูมิแพ้โลก หรือ World Allery Week 2022 ที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโรคภูมิแพ้ ยิ่งไปกว่านั้น ‘โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง’ ( Atopic Dermatitis) ยังเสมือนด่านปราการแรกในการนำไปสู่โรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ จากข้อมูลกว่า 50% พบเกิดอาการร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ จาม น้ำมูก คัน คัดจมูก โรคหอบหืด รวมถึงการแพ้อาหาร ความเข้าใจและการรักษาอย่างตรงจุดจึงนับเป็นหัวใจสำคัญช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอย่างยั่งยืน
ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และนายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยทุกวันนี้ มีผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่อยู่ในระดับที่รุนแรง ไม่น้อยกว่า 5% หรือประมาณ 500,000 ราย จากประชากรที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งมีอยู่กว่า 10 ล้านคน หรือ 15% ของประชากรไทย แต่กลับมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มากมาย อาทิ เป็นโรคติดต่อกันได้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความอับอาย โดนรังเกียจจากสังคม ส่งผลกระทบต่อจิตใจ การอาบน้ำช่วยบรรเทาอาการคันหรือระคายเคือง หรือกระทั่งการงดเว้นอาหารบางประเภทจะทำให้อาการต่าง ๆ หายขาด นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดว่าหากใช้สเตียรอยด์แล้วจะหาย ซึ่งสเตียรอยด์เป็นยาต้านการอักเสบ ช่วยเฉพาะผิวภายนอก ไม่ได้ช่วยการอักเสบข้างในหรือไม่ได้ช่วยรักษาจากสาเหตุของเซลล์หรือยีนที่ผิดปกติ หากใช้สเตียรอยด์ไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดการดื้อยา และได้รับผลข้างเคียง ทำให้ผิวหนังบางลงและดูดซึมเข้าร่างกาย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย
นความเป็นจริงโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ไม่สามารถติดต่อกันได้ แต่เกิดจากปัจจัยหลักสำคัญ 2 ประการ คือ ปัจจัยภายใน คือ พันธุกรรม หรือมีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้หรือภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีน และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สิ่งกระตุ้น เช่น มลพิษต่าง ๆ อาทิ แสงแดด สภาพแวดล้อม รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ปัจจัยภายนอกนั้นมีผลมากกว่าปัจจัยภายใน เพราะอาการต่าง ๆ อันเนื่องมาจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้น เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคือง หรือการอักเสบของผิวหนัง ยิ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัจจัยกระตุ้นทั้งจากมลภาวะเป็นพิษ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งล้วนมีผลกระตุ้นทำให้ชั้นผิวหนังถูกทำลาย ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีการคาดการณ์ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรไทย 50% จะเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ซึ่งกว่า 50% มักพบว่าเป็นร่วมกันทั้งสองโรค
ทั้งนี้ วิธีการสังเกตอาการเบื้องต้นที่ควรมาพบแพทย์ คือ “รบกวน” ในกรณีที่มีอาการคันจนรบกวนการนอน รบกวนการใช้ชีวิต และ “เรื้อรัง” มีอาการคันหรือเป็นผื่นที่เป็นเรื้อรัง เกิน 6 เดือน มีอาการหลายบริเวณ เกิน 2 ตำแหน่งขึ้นไป มีการกลับมาเป็นอยู่เรื่อย ๆ อีกหนึ่งจุดสังเกตคือ มีอาการเห็นเด่นชัดบริเวณใบหน้า
วิธีการรักษาภูมิแพ้ ต้องเริ่มจากการรักษาที่เกราะป้องกันตัวเราก่อน คือผิวหนัง ผิวหนังมีพื้นที่ผิวมากที่สุดในร่างกาย เพราะฉะนั้น ผิวหนังจึงเสมือนปราการด่านแรก หากถูกทำลายก็ทำให้อ่อนแอ ส่งผลให้เกิดการแพ้อื่นๆ ได้ เราสามารถแพ้อาหารทางผิวหนังได้ เช่น แพ้ถั่ว โดยไม่จำเป็นต้องกินก็แพ้ได้ด้วยการสัมผัสบ่อย ๆ
ปัจจุบัน ถ้าเด็กเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง ก็จะแพ้อาหาร แพ้พวกไรฝุ่น หรือขนสัตว์ที่เกิดจากการสัมผัส ไม่ได้เข้าระบบทางเดินหายใจ บรรดาโรคภูมิแพ้ทั้งหมด ‘โรคภูมิแพ้ผิวหนัง’ ถือเป็นโรคที่มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ชนิดอื่นได้ และสิ่งที่น่าวิตก คือ คนไทยประมาณ 5% ที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ในระดับที่รุนแรงกลับถูกมองข้าม เพราะคิดว่าโรคนี้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต
แต่ทว่าโรคนี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก ผู้ป่วยจะมีอาการคันตลอด นอนไม่ได้ ติดเชื้อง่าย ไม่เพียงแค่ผลกระทบทางร่างกาย ความเข้าใจผิด ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม สูญเสียความมั่นใจ อาย เกิดความเครียดสะสมและก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่คิดฆ่าตัวตาย
ด้านคุณแม่ผู้ป่วย ซึ่งมีลูกชายวัย 17 ปี ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังขั้นรุนแรง แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า ลูกชายของตนมีอาการเป็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็รักษาตามอาการมาโดยตลอด ทั้งกินยา ทายา และห่อตัวด้วย Wet Wrap เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว แต่พอระยะหลังช่วงมัธยมต้น อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ รักษาทุกวิธีทุกรูปแบบก็ไม่หาย ผิวหนังเป็นตุ่มเป็นผื่นแดงทั่วตัว ไม่มีที่ว่างเลย เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เมื่อไปโรงเรียน ก็มีคนทำท่ารังเกียจ ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่อยากออกไปข้างนอก ไม่อยากถ่ายรูป ขาดสมาธิในการเรียน การเรียนตกต่ำลง อีกทั้งงานอดิเรกคือกีฬากอล์ฟ ก็ต้องหยุดไปเพราะไม่สามารถออกแดดได้
คนเป็นแม่รู้สึกทุกข์ทรมานใจมาก เพราะโรคนี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก แต่โชคดีที่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา น้องได้รับการรักษาด้วยกลุ่มยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ทำให้น้องมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน 2 สัปดาห์ และผื่นหายหมดหลังจากรักษาไป 1 เดือน ปัจจุบันครอบครัวกลับมามีความสุขอีกครั้ง น้องอยากไปโรงเรียน และมีกลุ่มเพื่อน ๆ รวมถึงผลการเรียนก็ดีขึ้น
ในปัจจุบันยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากยากลุ่มชีววัตถุยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยังไม่มีระบบสำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาของยากลุ่มนี้ ซึ่งเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างสูง และเป็นนวัตกรรมใหม่หรือที่เรียกว่าการรักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นการรักษาตรงจุดช่วยลดการอักเสบเฉพาะเซลล์ที่บกพร่อง และทำให้โรคสงบ ช่วยลดการเห่อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีเวลาฟื้นฟูผิว อาบน้ำ ทาครีมดูแล แต่ถ้าโรคไม่สงบ ผิวหนังถูกกระตุ้นเรื่อย ๆ จากการเกา เกิดการอักเสบและเห่อขึ้นอีก ซึ่งจะวนไปแบบนี้เรื่อย ๆ โดยหลักการการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คือ ต้องให้โรคสงบก่อน และรีบฟื้นฟูผิว
รวมถึงต้องเลี่ยงไม่ให้เจอปัจจัยกระตุ้น อีกทั้งต้องปรับการใช้ชีวิตให้สมดุลแบบองค์รวม หรือ 4E ประกอบด้วย 1. Environment - สภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงพวกไรฝุ่น หรือมลภาวะเป็นพิษหรือตัวกระตุ้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน 2. Emotion - พยายามไม่เครียด เพราะมีผลทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้กำเริบ 3. Exercise – การออกกำลังกายจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ก็ต้องมีลักษณะพิเศษคือควรอยู่ในห้องแอร์ ออกกำลังกายแต่พอดี ไม่ร้อน ไม่ให้เหงื่อออก หรือหากว่ายน้ำ ก็ต้องเป็นระบบน้ำเกลือ ควรหลีกเลี่ยงคลอรีน เป็นต้น และ 4. Eating - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรกินผักผลไม้ในปริมาณที่สมดุลกับหมวดหมู่อื่นๆ และเสริมวิตามิน D เพื่อช่วยป้องกันเรื่องภูมิแพ้