ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อมีการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนระบบสายพานทำให้สามารถผลิตซ้ำจำนวนมาก (Mass Production) การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ก่อให้เกิดกระแสหวาดกลัวว่าจะมาทำงานแทนมนุษย์
ทำให้ในปี ค.ศ. 1811 ชาวอังกฤษเจ้าของกิจการทอผ้าขนาดเล็กในเมืองน็อตติงแฮมได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ลุดไดท์ (Luddites) ก่อหวอดประท้วง และเข้าทำลายเครื่องจักรในโรงงานสิ่งทอ เพราะเชื่อว่าคือต้นเหตุที่การทอผ้าในครัวเรือนที่ใช้ทักษะต้องปิดกิจการลง การต่อต้านกระจายไปทั่วประเทศยาวนานถึง 5 ปี นำไปสู่การจับกุมลงโทษผู้ประท้วงจำนวนมาก
เครื่องจักรไอน้ำเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ในช่วงแรกมีข้อจำกัด ตรงที่เครื่องจักรจำเป็นต้องอยู่ใกล้แม่น้ำ จนกระทั่งมีการพัฒนาระบบโรตารี่ทำให้สามารถสร้างโรงงานที่ใดก็ได้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อมีการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนระบบสายพานทำให้สามารถผลิตซ้ำจำนวนมาก (Mass Production) การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ก่อให้เกิดกระแสหวาดกลัวว่าจะมาทำงานแทนมนุษย์
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เกิดจากการมาถึงของยุคดิจิทัลทำให้เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หุ่นยนต์และระบบออโตเมชันถูกใช้ในกระบวนการผลิตอย่างแพร่หลาย ศักยภาพของหุ่นยนต์เหมาะกับการทำงานเฉพาะทาง ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดที่เน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อสนองตอบความต้องการของแต่ละบุคคล (Mass Customization) มากกว่าการผลิตซ้ำ (Mass Production) เช่นเดียวกับเครื่องจักรกล
หลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์กำลังเข้ามาแย่งงานมนุษย์ งานวิจัยของ อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ พบว่างานในภาคการผลิตทั่วโลกถึง 20 ล้านตำแหน่ง อาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ฮาน โมราเวค นักวิทยาการหุ่นยนต์ชาวออสเตรีย เจ้าของทฤษฎีความย้อนแย้งโมราเวค (Moravec’s Paradox) ช่วยลดทอนความกังวลดังกล่าวโดยอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์สามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เช่น ทำงานเฉพาะทางที่สลับซับซ้อน หรือแก้ไขปัญหาเชิงตรรกะที่ยุ่งยากและคณิตศาสตร์ขั้นสูง แต่ในส่วนของทักษะที่เรียบง่ายที่มนุษย์ทำกันเป็นประจำ เช่น การสนทนา หรือการแสดงออกทางอารมณ์ กลับเป็นเรื่องยากของหุ่นยนต์ งานใดที่ต้องทำซ้ำ ๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหุ่นยนต์แทนที่ แต่งานที่ต้องใช้ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ หรือการเข้าสังคมสร้างสัมพันธ์ ยังคงต้องใช้มนุษย์ในการทำงานต่อไป
จนถึงทุกวันนี้ หุ่นยนต์ยังไม่พัฒนาถึงขั้นผ่านการทดสอบของทัวริง (Turing Test) ที่ใช้วัดความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์ว่า มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์หรือไม่ ผ่านการวิเคราะห์บทสนทนาโต้ตอบระหว่างกัน หากไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสมองกล หรือมนุษย์ จะถือว่าผ่านการทดสอบของทัวริง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีระบบสมองกลใดผ่านการทดสอบนี้ เพียงแต่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเวนที ประเทศอังกฤษ พบว่าระบบปัญญาประดิษฐ์เลือกที่จะหยุดโต้ตอบ เมื่อพบว่ากำลังถูกทดสอบ
นอกจากกลัวว่าจะถูกแย่งงานแล้ว หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ เช่น ฮิวแมนนอยด์ (Humanoid) หรือหุ่นยนต์ที่เลียนแบบการแสดงออกของมนุษย์ เช่น แอนดรอยด์ (Android) ยังทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ
งานวิจัยของมาซาฮิโระโมริ นักวิทยาการหุ่นยนต์ชาวญี่ปุ่น เรียกอาการนี้ว่า ‘หุบเขาประหลาด (Uncanny Valley)’ ซึ่งเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ของมนุษย์ที่มีต่อระดับความเสมือนจริงของหุ่นยนต์ มาซาฮิโระได้อธิบายปรากฎการณ์นี้ในรูปกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างของหุ่นยนต์ที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ (แกน Y) และความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อหุ่นยนต์ (แกน X) เริ่มต้นจากแขนกลที่มนุษย์มองว่าเป็นแค่อุปกรณ์ในการทำงานไม่รู้สึกกังวล ความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงจะคงอยู่ในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดที่ความเหมือนของหุ่นยนต์ทั้งรูปร่างหน้าตาและการเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ กราฟแสดงความรู้สึกคุ้นเคยจะตกลงอย่างรวดเร็วเสมือนเป็นเหวลึกหรือหุบเขา (Valley) กลายเป็นความกลัวไม่อยากเข้าใกล้
อย่างไรก็ตาม เมื่อหุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์เพิ่มขึ้นถึงระดับเกือบ 100% เหลือเพียงความรู้สึกทางอารมณ์เท่านั้นที่ทำให้แตกต่างจากมนุษย์ ความรู้สึกกลัวจะหายไป และกราฟแสดงความคุ้นเคยจะกลับมาเพิ่มขึ้นเช่นเดิม มาซาฮิโระยังชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์เกินไปที่จะทำให้เรากลัว แต่เป็นหุ่นที่ ‘เหมือน’ แต่ ‘เหมือนไม่พอ’ ต่างหากที่ทำให้มนุษย์รู้สึกกลัว
‘Uncanny Valley’ อาจจะพัฒนาไปเป็นโรคกลัวหุ่นยนต์ (Robophobia) เช่น ความเป็นปฏิปักษ์ต่อหุ่นยนต์ของกลุ่มนีโอลุดไดท์ (Neo-Luddites) แม้ยังไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่ก็ปรากฏการต่อต้านในรูปนิยายวิทยาศาสตร์ ภาพยนต์ มิวสิกวีดิโอ และเกม โจนาธาน แกร็ทช์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น เเคลิฟอร์เนีย เชื่อว่าอาการดังกล่าวเป็นปฏิกริยาทางชีววิทยาผ่านสัญชาตญาณของมนุษย์ เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติไม่เหมือนจริงบางอย่างของหุ่นยนต์ ยิ่งเราพยายามพัฒนาความสามารถของหุ่นยนต์ให้เหมือนคนจริงมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งจับผิดหุ่นยนต์ เเละยิ่งสร้างความรู้สึกทางลบมากขึ้นเท่านั้น
รวมทั้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวบนโลกที่ฉลาดที่สุด ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกกลัวว่าความเป็นมนุษย์กำลังถูกคุกคาม ความคิดเช่นนี้ได้ถูกตอกย้ำจากบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น สตีฟ วอสเนียก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล เคยกล่าวไว้ว่าสักวันหนึ่งมนุษย์อาจจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของหุ่นยนต์ แม้แต่ สตีเฟน ฮอว์คิง และอีลอน มัสค์ ก็เคยออกมาเตือนถึงอันตรายของการพัฒนาด้านจักรกลอัจฉริยะที่ไปไกลจนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมให้รับรู้และมีความสามารถพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป
หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังพัฒนาไปเร็วมากจนแทบจะมีความคิดเป็นของตนเอง ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่แน่ใจว่า มีพื้นที่มั่นคงปลอดภัยเพียงพอในการควบคุมความก้าวหน้าดังกล่าว ความกลัวหุ่นยนต์ก็ยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพราะเป็นเสมือนสัญญาณย้ำเตือน ถึงการมีอยู่ของความเปราะบางทางจิตใจของมนุษย์นั่นเอง