นางสาวปัณฑารีย์ ศิริชัย นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร(หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ดร.อุทัยวรรณ สุทธิศันสนีย์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล
ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม "บอร์ดเกม The Plantstery ปริศนาพฤกษาสู้โรค" โดยหวังเพื่อประชาชนชาวไทยได้องค์ความรู้ และเข้าใจในประโยชน์ของพืชอาหารท้องถิ่น เพื่อการขยายผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน และการอนุรักษ์ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
แนวทางดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 15 ที่ว่าด้วย "Life On Land" หรือการพัฒนาชีวิตบนบกให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งพืชอาหารท้องถิ่นที่หยิบยกขึ้นมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม "บอร์ดเกม The Plantstery" สามารถพบได้ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอัน
เนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 10 ชนิด ได้แก่ พืชท้องถิ่นที่เป็นได้ทั้งอาหารและยา ที่รู้จักกันโดยทั่วไป อาทิ มะขามป้อม ไพล ผักกูด รวมทั้งพืชอาหารท้องถิ่นอีก 7 ชนิด ที่มีคุณประโยชน์อันโดดเด่นในการลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบมากในปัจจุบันได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคที่มากับวัยที่ล่วงเลย อาทิ โรคอัลไซเมอร์ และโรคชรา
กลุ่มเป้าหมายเปิดกว้างทั้งสำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไปโดยผู้วิจัยได้ออกแบบนวัตกรรมให้เป็นไปลักษณะของ"บอร์ดเกม" จำลองสถานการณ์ที่คอยกระตุ้นให้ผู้เล่นได้ฝึกเรียนรู้และสร้างกระบวนการทางความคิดจากความท้าทายที่ทำเป็นปริศนาให้ค้นหาคำตอบ โดยกำหนดให้ผู้เล่นแข่งกันเก็บพืชจากป่าชุมชนจำลองมาบริโภคเพื่อลดเสี่ยงโรคให้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด
ความสนุกสนานเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เล่นเก็บพืชอยู่ แล้วต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ นานา และที่น่าสนใจ คือ การที่บอร์ดเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเล่นบอร์ดเกมต่อไปจนจบพร้อมกับได้ความรู้จากบอร์ดเกมกลับไปด้วย
"บอร์ดเกม The Plantsteryปริศนาพฤกษาสู้โรค" สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน และกิจกรรมสำหรับครอบครัวโดยนวัตกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการทดสอบและปรับปรุงให้สมบูรณ์ ก่อนนำไปเผยแพร่ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในวงกว้างต่อไปภายในปีการศึกษา 2565 นี้
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ได้ทรงริเริ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะทำให้ประชาชนในชุมชนได้มี"ถุงยังชีพจากธรรมชาติ" ให้พึ่งพาอย่างยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบใดที่ยังคงรู้คุณค่า และเกิดความตระหนักที่จะอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป