เตือน “เด็กไทย” เสี่ยงหนักเจอ 3 ภัย ทำร้ายชีวิต ทำลายสุขภาพ

13 ม.ค. 2567 | 06:44 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2567 | 06:52 น.

ภัยร้ายกระทบเด็กไทย ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ 2567 สศช. เตือนมีความเสี่ยงพบ3 ภัย ทำร้ายชีวิต ทำลายสุขภาพ เช็ครายละเอียดภายด้านต่าง ๆ แบบเจาะลึกได้ที่นี่

เด็กและเยาวชนไทย อาจมีความเสี่ยงพบเจอกับภัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยทางด้านสังคม และสุขภาพ ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กในภาวะสังคมไทยครั้งล่าสุด ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีเรื่องนี้น่าสนใจต้องเฝ้าระวัง ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ 2567 ดังนี้

บุหรี่ไฟฟ้า

ภัยอย่างแรก สศช. ขอให้เฝ้าระวังและติดตามบุหรี่ไฟฟ้ารูปลักษณ์ใหม่ที่ดึงดูดเยาวชนให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ และสร้างการตระหนักถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนเป็นระยะ 

แต่จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในปี 2566 พบว่า เยาวชน 9.1% หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนทั้งหมด มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสาเหตุดังนี้ 

  • 92.2% มาจากการถูกชักชวนจากเพื่อน 
  • 3.2% ถูกชักชวนจากญาติ 
  • 1.6% ถูกชักชวนจากคนในครอบครัว 

อีกทั้ง บุหรี่ไฟฟ้ายังมีการปรับรูปลักษณ์ใหม่เสมอ เพื่อทำการตลาดดึงดูดกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อาทิ การปรับรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้า GEN 5 หรือ “Toy Pod” ที่มีลักษณะคล้ายของเล่นเด็กทั่วไป เลียนแบบจากการ์ตูนดังที่เด็กชื่นชอบแตกต่างจากรูปทรงบุหรี่มวนแบบ GEN 1 อย่างชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ผู้ปกครองคาดไม่ถึงว่าสิ่งที่เยาวชนครอบครองอยู่ คือ บุหรี่ไฟฟ้า

ภาวะโรคอ้วน

ภัยอย่างที่สอง เด็กและเยาวชนไทยมีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 พบว่า เด็กอายุ 6 – 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.5% และเยาวชนอายุ 15 – 18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 16.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 13.3% และ 12.9% ตามลำดับ ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่กรมอนามัยตั้งไว้ไม่เกิน 12% โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ 

ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายที่พอเพียงในปี 2566 พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 5 – 17 ปี มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือเพียง 16% พฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและอาจนำไปสู่โรคติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว 

 

รายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ภาวะอ้วนเด็กไทย

การพนันออนไลน์

ภายร้ายที่สาม นั่นคือ การเล่นการพนันออนไลน์ของกลุ่มเยาวชน จากผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า มีผู้เล่นพนันออนไลน์ถึง 2,996,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ 739,000 คน (เฉลี่ยเดือนละ 61,583 คน หรือวันละ 2,052 คน) ส่วนใหญ่ 98.7% เป็นการเล่นพนันผ่านช่องทางมือถือ โดยแรงจูงใจส่วนใหญ่มาจากการโฆษณาชักชวนทางออนไลน์ที่ 87.7% 

ด้านพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนรุ่นใหม่ พบว่า 31.8% เล่นพนันออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 1 ชม. และเล่นในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์มากที่สุด ที่ 51.6% โดยประมาณการเงินหมุนเวียนจากการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ที่ 58,675 ล้านบาทต่อปี (เฉลี่ยคนละ 1,633 บาท/เดือน ต่ำสุด 10 บาท/เดือน และสูงสุด 91,260 บาท/เดือน) 

นอกจากนี้ เว็บพนันออนไลน์ต่างมีกลยุทธ์ทางการตลาดให้ “ผู้เล่นหน้าใหม่” เข้าสู่วงการพนันด้วยการใช้สื่อออนไลน์และการโฆษณาด้วยการจ้างบุคคลมีชื่อเสียง อาทิ “Influencer” โพสต์โฆษณาเชิญชวน ซึ่งผู้ที่เชิญชวนให้เล่นพนันมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560