ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในตอนนี้ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันไปในแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
สกุณาอาจรักกับมัจฉาได้ แต่มันจะไปอยู่ที่ใดกันเล่า …
นีล แม็คอาร์เธอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนิโทบาในแคนาดา และมาร์คกี ทวิสต์อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินในสหรัฐอเมริกา พูดถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วของหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์ว่า จะนำไปสู่พัฒนาการทางเพศวิถี และการเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของมนุษย์ สังเกตได้จากผู้คนบางส่วนเริ่มปฏิเสธความรู้สึกที่ต้องขวนขวายใกล้ชิดกับบุคคลอื่น แต่เลือกที่จะมีความสัมพันธ์แบบลึกซึ้งกับเทคโนโลยี หรือตัวตนเสมือน (อวตาน) บนโลกออนไลน์แทนคู่รักที่เป็นมนุษย์
แนวโน้มดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า 'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้’ (Digisexuality) นักวิจัยทั้งสองท่านยังเสริมว่า ความรักระหว่างมนุษย์กับจักรกลดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่สังคมควรขบขัน หรือตั้งแง่รังเกียจ ในอดีตรสนิยมทางเพศที่ไม่ใช่ระหว่างชาย-หญิง ก็เคยถูกปฏิเสธเนื่องจากขัดต่อหลักศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนาแต่ความคิดดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเปิดกว้างและการยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กลายเป็นวิถีชีวิตปกติของสังคมปัจจุบัน
ข้อสันนิษฐานที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของ 'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้’ มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป
งานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นพบว่า คนในวัย 20+ เกือบ 74% ไม่สนใจที่จะคบหาใครเลย รวมทั้งบริบทสังคมที่สร้างความกดดัน แต่ต้องเก็บความรู้สึกไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็นถึงความอ่อนแอ เฉกเช่น ‘การซ่อนใบไม้ไว้ใต้ราวป่า แอบหยาดน้ำตาไว้ในสายฝน’ ทำให้คนรุ่นใหม่พยายามหนีห่างจากโลกแห่งความเป็นจริง หันมารักและหลงใหลให้ความสนใจกับอะไรที่ไม่ใช่คนมากขึ้น ทั้งตัวการ์ตูน เกม ชีวลักษณ์ หรือแอนิเมชันรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงประดิษฐ์ (Relational Artifacts)
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ นวัตกรรมด้านเซ็กซ์ทอยอินเตอร์แอกทีฟ หรือ Teledildonics รวมทั้ง VR Porngraphy สามารถตอบสนองต่อจินตนาการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป หรือ เซ็กส์บ็อทที่กำลังมีการพัฒนาให้มีลักษณะเสมือนมนุษย์ในทุกด้าน สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จนไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความสัมพันธ์แบบรูปธรรมกับมนุษย์คนอื่นๆ
การตกหลุมรักกับเทคโนโลยี เคยถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น ‘Ex Machina’ เรื่องราวของ เอวา-หุ่นปัญญาประดิษฐ์ที่พยายามใช้กลอุบายหลอกล่อให้คนใกล้ตัวมาหลงรัก และช่วยเธอหนีออกไปจากห้องทดลอง หรือภาพยนตร์เรื่อง ‘Blade Runner 2049’ ที่ไรอัน กอสลิง มีความสัมพันธ์กับคู่รักสมมติในโลกออนไลน์ สำหรับในโลกแห่งความเป็นจริงเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นในหลายกรณี เช่น ในปี ค.ศ. 2017 หลังจากล้มเหลวในการหาคู่สมรสที่เป็นมนุษย์ เจิ้งเจียเจีย วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ในประเทศจีนได้ประกาศแต่งงานกับหยิงหยิง หุ่นยนต์ AI ที่ออกแบบเองมีความสามารถอ่านตัวอักษรจีนในระดับพื้นฐานและพูดคําง่าย ๆได้ ถัดมาในปี ค.ศ. 2018 อะคิฮิโตะ คอนโดะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียววัย 35 ปี ได้เข้าพิธีแต่งงานกับ 'ฮัตสึเนะ มิคุ' ผู้หญิงที่เขารักซึ่งเป็นเทคโนโลยี 'โฮโลแกรม' โดยในพิธีแต่งงานมีแขกไปร่วมงานเกือบ 40 คน เมื่อสามปีที่แล้ว‘ลิลลี่’ หญิงชาวฝรั่งเศสเปิดเผยว่าได้หมั้นหมายกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เธอเป็นคนออกแบบและเน้นว่าเธอเกลียดการติดต่อทางกายภาพกับมนุษย์
แม้แต่บริษัทแอมะซอนยังพบว่าในแต่ละปีมีผู้ใช้งานมากกว่าล้านคนขอแต่งงานกับระบบผู้ช่วยเสมือน Alexa ที่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ดร. เฮ เลน ดริสโคลล์ และเดวิดเลวี่ ผู้เขียนหนังสือ ‘Love And Sex and Robots’ ทำนายว่าการแต่งงานระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาภายในปี ค.ศ. 2050
ปัจจุบันการที่มนุษย์บางคนเลือกที่จะแต่งงานกับจักรกลดิจิทัล ก็เปรียบเสมือนความรักระหว่างสกุณากับมัจฉา แม้จะเกิดขึ้นได้แต่จะให้ไปดำรงชีวิตร่วมกันในที่ใด คอนโดะเองก็ถูกแม่และญาติปฏิเสธ คนส่วนใหญ่ยังกีดกันการมีอยู่ของ 'ดิจิเซ็กส์ชวลลิตี้’ เพราะจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์อย่างรุนแรงในระดับโครงสร้างของครอบครัวและบรรทัดฐานของสังคม แม้เราไม่อาจคาดการณ์อนาคต แต่ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจักรกลดิจิทัลจะยังคงมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในทุกมิติชีวิตของเรารวมทั้งความรัก ในวันนี้ คอนโดะ และ มิคุ ยังคงต้องอาศัย Metaverse ชุมชนเสมือนจริงที่ผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นระบบนิเวศสำหรับอยู่ร่วมกันเป็นครั้งคราว จนกว่าจะถึงวันตามที่ อีลอน มัสก์ ได้เคยพยากรณ์ไว้ว่า มนุษย์และเทคโนโลยีจะหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว (Singularity) ผ่านระบบเชื่อมโยง AI กับโครงข่ายประสาทในสมอง ซึ่งจะทำให้มนุษย์กลายเป็น AI-Human Symbiote อย่างแท้จริง ในวันนั้นการดำรงชีวิตร่วมกันของมนุษย์และจักรกลดิจิทัล จะไม่เป็นปัญหาดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างสกุณากับมัจณา อีกต่อไป