เตือน!ผู้บริหาร อย่าทำงานจน ‘สังเวยตัวเอง’ 

11 ก.ย. 2565 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2565 | 11:33 น.

ผู้บริหารส่วนใหญ่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทุ่มเทและให้เวลากับงานมากเกินไป จนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลืมดูแลสุขภาพ ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบด้าน มีความเครียดสะสมแบบไม่รู้ตัว และรู้สึกเหนื่อยล้าจนไม่อยากทำอย่างอื่น  

อาการสังเวยตัวเอง (Sacrifice Syndrome) คืออะไร?

 

“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า อาการแบบนี้ถือเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง เรียกว่า “อาการสังเวยตัวเอง” หรือ “Sacrifice Syndrome” เพราะพวกเขาต้องแลกชีวิตและสุขภาพกับชื่อเสียงและความสำเร็จ ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

 หนทางรักษาเยียวยาอาการนี้ คือการฝึกฝนทักษะการเป็น “ผู้นำแบบยั่งยืน” (Sustainable Leadership) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
 

  • การมีสติ (Mindfulness)-หมายถึงการฝึกฝนให้เกิดความตระหนักรู้ในตัวเอง เข้าใจขีดความสามารถ รู้จักจุดแข็งจุดอ่อน และรับรู้อารมณ์ รวมถึงความรู้สึกของตนเอง รู้ทันความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา มีสติรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เครียดหรือเปล่า เหนื่อยเกินไปไหม ได้คุยกับคนที่อยู่รอบๆ ข้างบ้างหรือไม่ เป็นต้น
  • ความหวัง (Hope) - คือ พลังขับเคลื่อนของชีวิต คนที่มีความหวังจะมีพลัง ส่วนคนที่หมดหวังพลังก็หมดไปด้วย แต่ความหวังเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ หากหางเสือไม่ตรง เครื่องยนต์ก็ผลักดันไปผิดทาง ความหวังที่ถูกต้องคือความปรารถนาที่มองระยะยาว มากกว่าเพียงแค่ความสำเร็จระยะสั้นจากภายนอก เป็นเรื่องของความสุขและความเต็มอิ่มจากภายใน ยกตัวอย่างเช่น ความปรารถนาอยากมีสุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่รักรอบข้าง จะได้ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลา และเสียความรู้สึกมาดูแลคนป่วยติดเตียงที่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ล้มเหลวในด้านการใช้ชีวิต
  • ความพอดี (Balance) -หลายคนใช้ชีวิตแบบสุดโต่งเกินไป เวลาทำงานก็ทำเต็มที่จนไม่มีเวลาพักผ่อน พอเหนื่อยและหมดแรงก็หยุด แล้วหันมาออกกำลังกายแบบบ้าคลั่ง กินอาหารแบบอดๆ อยากๆ กินมื้ออดหลายมื้อ แบบนี้มีแต่จะทำให้ชีวิตแย่ลง ทางออกที่ดีที่สุดคือทางสายกลาง ทำงานพอประมาณ มีเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ชอบบ้างเป็นครั้งคราว ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

 

อาการ “การสังเวยตัวเอง” รักษาหายได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความตั้งใจ ความมีวินัย และความสม่ำเสมอ หากทำได้เช่นนี้ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างยั่งยืน 


หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565