ความที่เป็นคนชอบทะเลและอาหารใต้ เราเลยไม่พลาดไปปักหมุดการเที่ยวในแบบโลว์คาร์บอนกันที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา จากกว่า 20 เส้นทางซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ได้ร่วมจัดทำเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) How to be “Hero Traveler Zero Carbon” เข้าไปดูรายละเอียดคลิ๊กที่นี่
จังหวัดภูเก็ตไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของท้องทะเลอันดามันเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่คุณต้องไปเยือนคือการเดินเที่ยวชมย่าน “เมืองเก่าภูเก็ต” ถ่ายรูปเพลินๆ ซึมซับบรรยากาศตึกเก่าสไตล์ชิโนโปรตุกีส ยิ่งถ้ามาเดินวันอาทิตย์ช่วงบ่ายแก่ๆก็จะมีจัดพื้นที่ให้กลายเป็นถนนคนเดิน
หรือจะฟินกับกิจกรรมปั้นเซรามิค ณ “Sitao Ceramic Studio” เราใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงเรียนรู้การปั้นดิน ระบายสีดินเผา สีเซรามิก ซึ่งมีให้เลือกทำตามชอบ ราคาตั้งแต่ 250-550 บาท เพลินมาก โอ้โหลืมเวลาเลย
ส่วนสายกิน ย่านเมืองเก่าขนมและร้านอาหารขึ้นชื่อในย่านนี้ แนะนำ “ร้านระย้า” ร้านอาหารใต้ชื่อดังในบ้านสุดคลาสสิก ที่ใครไปต้องสั่งเส้นหมี่แกงปู หมูฮ้อง
ส่วนใครชอบอาหารทะเลก็ต้อง “โกอ่างซีฟู๊ด” ทั้งสดและอร่อยสุดๆ ปูสดมากกกก หมึกนึ่งมะนาวก็แซ่บบบบ อร่อยจนต้องโพสต์เก็บเข้าลิสต์ ร้านอาหารภูเก็ตเลย
ก่อนจะตบท้ายด้วยของหวานกันที่ร้าน “Torry’s Ice cream” ไฮศกรีมโฮมเมดที่รังสรรค์เข้ากันดีกับขนมโบราณพื้นเมืองภูเก็ต อร่อยและหน้าตาเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร
เมนูที่มาทุกครั้งต้องสั่งคือ “ปิโกหมอย” เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างข้าวเหนียวดำ น้ำกะทิ และไฮศกรีม หรอยอย่างแรงทานกันหมดจานไม่เหลือทิ้งให้เป็น Food waste แน่นอน
อีกหนึ่งโลเคชั่นในภูเก็ต คือ “หาดไม้ขาว” ซึ่งที่นี่มีกิจกรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมของ “ชุมชนบ้านไม้ขาว” ที่น่าสนใจอย่าง “การทำสปาทราย” หรือ นอน “ห่มทราย” ภูมิปัญญาจากชาวบ้านไม้ขาว เรานอนห่มทรายชมทะเลราว 45 นาที ก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และรู้สึกถึงการไหลเวียนของโลหิต ทรายที่เราห่มก็ไม่ร้อนเลย กลับเย็นสบายดี แต่จะร้อนแดดมากกว่า
แนะนำให้มาทำช่วงเช้าหรือเย็นจะได้ไม่ร้อนจนเกินไป
ที่นี่ยังมีกิจกรรมการหา “จักจั่นทะเล” ด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ซึ่งจักจั่นทะเลสามารถพบได้แค่เพียงที่พังงาและภูเก็ตเท่านั้น รวมถึงการหา “ผักลิ้นห่าน” ผักประจำถิ่นที่มีคุณค่าทางอาหาร
จากหาดไม้ขาว เราข้ามสะพานสารสินเที่ยวต่อกันเลยที่จังหวัดพังงา แวะไหว้พระกันที่ “วัดท่าไทร” หรือ วัดเทสก์ธรรมนาวา บ้านท่าแตง อำเภอท้ายเหมือง สวยงามมากับอุโบสถไม้สักหลังงามริมทะเล โครงสร้างภายนอกจำลองแบบมาจากพระอุโบสถพระอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มาประยุกต์สร้างด้วยไม้ ส่วนช่อฟ้าของโบสถ์แกะสลักจากช่างฝีมือชาวเชียงใหม่
ภายในโบสถ์ ไม้สักมีผนังเป็นฝาปะกน มีแท่นพระประธาน ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาแกะสลักจากหินหยกขาว อิทธิพลศิลปะอินเดีย อ่อนช้อยงดงามเปี่ยมศรัทธา
แล้วมาเรียนรู้การอนุรักษ์เต่า กันที่ “ศูนย์อนุบาลพันธุ์เต่าทะเล” ฐานทัพเรือทับละมุ เยี่ยมชมการทำงานและศึกษาเรียนรู้ แหล่งอนุบาลพันธุ์เต่าทะเล ที่หลังจากแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ที่เกาะสิมิลัน ลูกเต่าที่ถูกฟักแล้ว จะถูกพี่ๆจากฐานทัพเรือทับละมุ นำขึ้นเรือรบมาอนุบาลไว้ที่นี่เพื่อให้อยู่รอดจนอายุราว 6 เดือนจึงจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
สำหรับคนชอบท้าทายและผจญภัย พังงานี่ใช่เลย ยิ่งหน้านี้เป็นฤดูการเล่นเซิร์ฟ ที่ “Memories Beach” เขาหลัก เป็นจุดโต้คลื่นสุดฮอต ให้เราได้ยืนบนเซิร์ฟบอร์ดลอยตัวเหนือฟองคลื่น ถ้าใครเล่นไม่เป็นสามารถเรียนรู้การเล่นเซิร์ฟได้ที่นี่ด้วยเช่นกัน
ใครไม่ชอบเซิร์ฟ ก็สามารถไปสัมผัสความตื่นเต้นในแบบ Little Amazon กับการล่องเรือที่ “คลองสังเน่ห์” โดยชุมชนคลองสังเน่ห์
คลองสายสั้นๆ ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์น่าหลงใหลของป่าชายเลน พร้อมชมป่า ไทรโบราณอายุร้อยปีที่แผ่กิ่งก้านเต็มริม 2 ฟากฝั่งคลอง หากเห็นงูหลากชนิดขดนอนอยู่บนต้นไม้เหนือหัวเราอย่าตกใจ เพราะนี่คือความหลากหลายทางชีวภาพที่หาดูได้ยาก
ก่อนจะปิดท้ายการเที่ยวพังงาแบบโลว์คาร์บอนในบรรยากาศชิลๆ ใน “เมืองเก่าตะกั่วป่า” โดยจะคลาสสิก มากหากเรานั่งรถสองแถวประจำถิ่น
ไล่เที่ยวตั้งแต่ “สะพานเหล็กบุญสูง” หรือ สะพานเหล็กโคกขนุน สะพานขนาดเล็กๆยาว 200 เมตร เพื่อข้ามแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งสะท้อนเรื่องราวในอดีตที่อยู่คู่อำเภอตะกั่วป่ามาอย่างยาวนาน
เมื่อก่อนที่นี่เคยได้ชื่อว่า เป็นสถานที่ที่เฟื่องฟูในการทำเหมืองแร่ดีบุกอย่างมาก แต่ต่อมาเมื่อหมดยุครุ่งเรืองของเหมืองแล้วในปี พ.ศ.2511 ก็ได้มีการนำเหล็กจากเรือขุดแร่ มาสร้างเป็นสะพานเหล็กโคกขนุนแห่งนี้ จุดชมวิวและถ่ายภาพเช็คอินเมื่อมาเยือนตะกั่วป่า
จากนั้นนั่งรถต่อไปยัง “วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดควนถ้ำ” วัดเก่าโบราณอายุกว่า 300 ปี ที่ได้ผุพังไปและได้ขุดเจอลูกนิมิตรในช่วงของการสร้างวัดใหม่ ที่นี่เราจึงได้เห็น “อุโบสถที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2513 โดยนางฮวดบี เป็นผู้สร้าง ภายในมีพระพุทธรูปหินแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำมีปลวกทำรังสูงอยู่ด้านหลัง ส่วนใบเสมาโดยรอบจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
เปลี่ยนฟิลไปยัง “ศาลเจ้าปุนเถ้าก๋งอำ” ศาลเจ้าเก่าแก่ดั้งเดิมที่แรกของเมืองตะกั่วป่า ภายในศาลเจ้ามีสิ่งที่ควรค่าแก่การรักษา นั่นก็คือ กระถางธูปโบราณ ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5
ไหนๆมาตะกั่วป่าทั้งที ต้องแวะเดินชมตลาดเดินเที่ยวถนนศรีตะกั่วป่า ซึ่งในทุกวันอาทิตย์ชาวบ้านในชุมชนจะนำอาหารและสินค้ามาวางขาย เราเดินช้อป ชิม ชมอาคารสถาปัตยกรรมแบบชิโนโคโลเนียล หลากสีสันที่มีลักษณะแคบแต่ลึก หน้าบ้านมีหลังคาโค้งเชื่อมถึงกันประดับด้วยปูนปั้นศิลปะจีน
แล้วถ่ายภาพสตรีทอาร์ตตามกำแพงและเสาต่างๆ ที่จะบอกเล่าตัวตนของเมือง 13 ภาพ
ปิดท้ายด้วยการนั่งชิลล์ในคาเฟ่เก๋ๆจิบกาแฟชิมขนมพื้นถิ่น ณ “ร้านโกปี้ กั่วป่า”
ปิดทริปเที่ยวแบบโลว์คาร์บอนได้ทั้งสนุกและสุขใจ
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,817 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2565