หากกล่าวถึงชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คงนึกภาพไม่ออกว่าไปเที่ยวแล้วมีอะไรให้ทำบ้าง จะน่าเบื่อไหม คือต้องไปพักโฮมสเตย์เท่านั้นใช่ไหม จับต้นชนปลายไม่ถูก ความรู้สึกนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ามาเที่ยว “ย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี” จ.เพชรบุรี
เส้นทางท่องเที่ยว ที่เราขับรถจากกรุงเทพฯไปไม่ไกลก็ได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวสไตล์แตกต่าง เที่ยวชิลล์ๆเรียนรู้วัฒนธรรม กินของ อร่อยๆได้ใจสุดๆ กับเอกลักษณ์อันเป็นจุดขายใน 3 ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี
สีสันการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากการจัดการโดยชุมชน คือ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนซอยตลาดริมน้ำและชุมชนวัดเกาะ ที่รวมกลุ่มกันสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยว โดยนำจุดเด่นด้านศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนของแต่ละชุมชน มานำเสนอนักท่องเที่ยว เรามาแล้วยอมรับเลยว่ามีแรงดึงดูดในการท่องเที่ยว และมีดีกว่าที่คิด
Street Art ชุมชนซอยตลาดริมน้ำ
มาถึงตัวเมืองเพชรบุรี แนะนำให้ไปไหว้พระที่ “วัดมหาธาตุวรวิหาร” หนึ่งในวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดเพชรบุรีและเป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ภายในวัดมีพระปรางค์ห้ายอด สร้างตามศิลปะขอม ปรางค์แต่ละองค์สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์ใหญ่สูง 42 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือจอดที่วัดพลับพลาชัย ที่อยู่ไม่ไกลกัน
จากนั้นให้เดินข้ามถนนไป ไม่ไกลจะเห็นซอยถนนสุวรรณมุณี เดินเข้ามาราว 200 เมตร ผ่านสะพานข้ามคลอง ก็จะเจอกับซอยเล็กๆที่มีป้ายชุมชนตลาดริมน้ำเพชรบุรีเลี้ยวเข้าไปในซอยชุมชนตลาดริมน้ำเพชรบุรี
ซอยสั้นๆ ระยะทางประมาณ 1 กม.ที่สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยร้านขายของชำ แผงขายอาหาร และที่โดนใจสุดๆ คือ ภาพวาด “Street Art” (สตรีทอาร์ต) น่ารักหลายภาพจากศิลปินเมืองเพชร
โดนใจทาสแมวสุดๆกับ Street Art ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพแมวในอิริยาบทต่างๆ อดใจไม่ไหวเลย แชะแชร์ภาพคู่กับน้องแมวฉ่ำใจเลย เพราะชุมชนนี้มีแมวอาศัยอยู่หลายตัว
เข้าซอยมาไม่ไกล ด้านขวามือจะร้านก๋วยเตี๋ยว คอเนื้อห้ามพลาด เมนูเด็ด คือ “ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง”
อีกร้านที่พลาดไม่ได้เลย คือ “ข้าวแช่แม่อร” ร้านดังในตำนาน ซึ่งปัจจุบันแม่อรยังแสดงฝีมือการทำข้าวแช่แสนอร่อย เราทานแล้ว
การันตีรสมือได้เลยว่าอร่อยมาก ขายชุดละ 20 บาทเท่านั้น
ประกอบด้วยข้าวแช่เมล็ดข้าวนิ่ม ใส่น้ำและน้ำแข็ง หอมกลุ่นกลิ่นควันเทียน ทานคู่กับเครื่องเคียง 3 อย่าง ได้แก่ ปลากระเบนตากแห้งแล้วนำมาผัด ลูกกะปิทอด ไชโป๊วหวาน ทานพร้อมข้าว ให้รสชาติละมุน ทานแล้วเย็นชื่นใจมาก
หลายคนแวะมาซื้อกลับบ้าน แต่เรามาแล้ว ก็นั่งทานที่ร้านเลย มีโต๊ะเล็กๆ มุมติดผนัง 3-4 โต๊ะ มี Street Art สื่อถึงภาพเก่าเล่าเมืองเพชร ถัดไปเป็นภาพหาบแร่ขนม สะท้อนถึงความเป็นเมืองค้าขาย
ทานเสร็จเดินต่อก็ยังเห็นภาพแมวน่ารักอีกหลายมุมเลยทีเดียว มีภาพน้องหมาด้วยนะ
รวมถึงภาพการใช้ชีวิตของชุมชน อย่างภาพเชิดสิงโตออกจีนๆหน่อย เพราะชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน
ประทับสุดๆคือเมื่อเดินผ่านตลาดสดไปสุดซอยจะเจอภาพสุดท้ายที่โดดเด่นอยู่บนผนังอิฐโบราณ คือ ภาพของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยังคงสถิตอยู่ในใจพสกนิกรตลอดไป
Street Art ที่ชุมชนแห่งนี้ดูแตกต่างจาก Street Art ที่ภูเก็ตอย่างชัดเจน เพราะที่นี่จะสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน องค์ความรู้ต่างๆที่ทั้งได้ภาพสวยๆ และประวัติเมืองเพชรอีกด้วย
ตอกลายสร้างศิลป์ ชม‘หนังใหญ่’
หลังชม Street Art ถึงท้ายซอยจ้า มาต่อมายังสะพาน “สะพานจอมเกล้า” สะพานคอนกรีตแห่งแรกของเมืองเพชร
ถ้าหิวลองแวะทานอาหารที่ “ร้านระเบียงริมน้ำ” ตั้งอยู่ปลายสะพานบรรยากาศดี ซึ่งใครอยากตามรอยละคร “สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก” ก็แวะมากันได้
ถ้ายังไม่หิวเดินขึ้นไปเรื่อยๆก็จะเจอวัด “พลับพลาชัย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” ซึ่งในอดีตหนังใหญ่นับว่เป็นมหรสพเก่าแก่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูงของคนไทยในอดีต
เพราะเป็นการรวมศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกันมีทั้งจิตรกรรมผสมผสานงานแกะสลัก บวกกับวรรณกรรม ดนตรี และนาฎศิลป์นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์โดยเริ่มมีการเล่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ 2001 ซึ่งค้นพบได้จากหลักฐานที่กล่าวไว้ใน กฏมณเฑียรบาล
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมโตรโสกนาถ หลังจากนั้นก็มีการละเล่นเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา แล้วได้เลือนหายไป ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี การเล่นหนังใหญ่ก็ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในอดีตที่วัดแห่งนี้เคยมีหนังใหญ่มากถึง 200 หนังจากฝีมือช่างศิลป์เมืองเพชร จากการรวบรวมของ “หลวงพ่อฤทธิ์” อดีตเจ้าอาวาส แต่ในปี 2458 เกิดเพลิงไหม้ จึงได้มีการโยกย้ายหนังใหญ่ไปเก็บยังสถานที่อื่น และเมื่อบูรณะวัดพลับพลาชัยขึ้นอีกครั้ง
จึงจัดให้มีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ และนำหนังใหญ่กลับมารักษาไว้เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันมีหนังใหญ่ที่เก็บรักษาอยู่ในวิหารจำนวน 32 ตัว
การทำหนังใหญ่ จะใช้หนังวัวดิบตากแห้งและขึงลงในกรอบให้ตึง เขียนภาพลงบนแผ่นหนัง แล้วจึงฉลุลายด้วยเครื่องมือ โดยตัวหนังแบ่งออกเป็น2 ลักษณะ คือ “หนังเดี่ยว” ที่ฉลุเป็นตัวละครเดียวๆ และ “หนังเมือง” เป็นหนังที่มีตัวละครประกอบด้วยภาพสถานที่
การเชิดหนังใหญ่นั้น ผู้เชิดต้องได้รับการฝึกหัด เช่นเดียวกับการฝึกหัดโขนส่วนมากจะเป็นชายร่างกายแข็งแรง เพราะตัวหนังมีน้ำหนักมาก ผู้เชิดจะเต้นและทำท่าทางไปตามจังหวะ โดยต้องสอดประสานกับผู้พากย์อย่างเข้าใจกันในทุกจังหวะทุกตอน
มาที่นี่ไม่เพียงเราจะสามารถเดินชมหนังใหญ่ฟรี แต่หากอยากทำกิจกรรม ทางชุมชนก็มีกิจกรรม “ตอกลายสร้างศิลป์” งานศิลปะตอกกระดาษ เมืองเพชร ลายหนังใหญ่ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือตอกลายตัวหนังใหญ่ด้วยตัวเอง
โดยการใช้ค้อนและตุ๊ดตู่ตอกลงไปบนกระดาษลวดลายตัวหนังใหญ่ที่นำมาประยุกต์เป็นของที่ระลึกที่ทำจากจากฝีมือของตัวนักท่องเที่ยวเอง
ใครที่ได้ลงมือทำจะรู้ว่ามันไม่ง่ายเลย แม้จะเป็นแค่ตัวหนัง (กระดาษ) จำลองตัวเล็กๆ แต่ก็ต้องใช้ความปราณีตในการทำ เมื่อทำเสร็จแล้วนำไปใส่กรอบ มันถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ เพราะนี่เป็นงานจากฝีมือสร้างสรรค์ของตัวเราเอง ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวในโลก และยังได้เรียนรู้การเชิดหนังด้วย
มาเที่ยวชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี เราเลือกได้เลยว่าจะเที่ยวในแบบครึ่งวันหรือเต็มวัน เที่ยวกันได้ทุกวัน แต่หากจะทำกิจกรรมให้ครบจริงๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี โทร. 08- 6344 4418 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร.032 471 006
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,783 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565