วันก่อนได้มีโอกาสไปเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารของ “อิสราเอล” อย่างอิ่มใจและสบายพุง ซึ่งจะว่าไปแล้ว “อาหารอิสราเอล” นั้น ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคนไทยหลายคนเองก็อาจยังไม่คุ้นชิน
เพราะร้านอาหารอิสราเอลในไทย ยังไม่ได้แพร่หลาย เหมือนอาหารชาติอื่น ๆ การได้ลองลิ้มชิมรสอาหารอิสราเอล ไปพร้อมกับฟังที่มาของอาหารแต่ละจาน จึงเป็นประตูเปิดไปสู่ความเข้าใจอิสราเอลได้อย่างมีอรรถรสเลยทีเดียว
พิเศษสุด เพราะผู้ที่มาให้ความรู้ และเชิญชิมอาหาร คือ ท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอล “ออร์นา ซากิฟ” ซึ่งมาบรรยายให้ฟังด้วยตัวเอง ในงานกิจกรรม “เรียนรู้อิสราเอล ผ่านวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล” หรือ “Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes” ณ ร้านอาหาร Helena ซอยสุขุมวิท 51 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
ท่านทูตอิสราเอล เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารอิสราเอลว่า เมื่อพูดถึงอาหารอิสราเอล คนไทยหลายคนคงมีภาพความเข้าใจว่าอาหารอิสราเอลมีแต่อาหารตะวันออกกลางอย่างเดียว อย่าง “ฮัมมัส” (hummus) หรือสลัด “ตาบูเล่” (tabbouleh)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารอิสราเอลเต็มไปด้วยองค์ประกอบจากภูมิภาคอื่นๆจากทั่วโลก เช่น ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน ตุรกี โมร็อกโก ฯลฯ
เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศเกิดใหม่ ชาวยิวที่กระจัดกระจายในหลายประเทศต่างอพยพมาตั้งรกรากในอิสราเอล และได้นำเอาวัฒนธรรมอาหารของตนเองมาประยุกต์กับการใช้ชีวิตในประเทศอิสราเอลด้วย จึงกลายเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารเช่นนี้ ทำให้เชฟจากประเทศอิสราเอลจำนวนมากประสบความสำเร็จในหลายประเทศ จากคิดค้นสูตรอาหาร “ฟิวชั่น” คงวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆได้อย่างกลมกลืน
ทั้งเรายังได้ทดลองทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศอิสราเอลอย่างสนุกสนาน อาทิ “ฟาลาเฟล” (Falafel) “ชักชูกา” (Shakshuka) และขนมปัง “ฮาลาห์” (Challah) โดยมีทีมเชฟจากร้านอาหาร Helena เป็นผู้สาธิตวิธีการประกอบอาหารอย่างใกล้ชิด
หลังทดลองทำอาหารอิสราเอลเสร็จสิ้น ก็ได้เวลาร่วมกันรับประทานอาหาร ซึ่งทุกเมนูได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น หมวดสลัด อาหารเรียกน้ำย่อย 11เมนู ,อาหารจานหลัก 9 เมนู ,ขนมปัง 2 ชนิด และของหวาน อีก 2 เมนู เรียกว่าอิ่มแปล้กันไปเลยทีเดียว
ทุกเมนูที่ได้ทดลองทำและลิ้มลอง ล้วนมีคำอธิบาย ถึงเบื้องหลังในแต่ละจานเอาไว้ด้วยในคู่มือแนะนำอาหารอิสราเอล และสูตรอาหารที่แจกให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน เช่น “ฟาลาเฟล” (Falafel)
เมนูนี้เป็นส่วนผสมของถั่วลูกไก่เป็นหลัก นำมาบดผสมกับหัวหอม ,ผักชีต่างๆ , ไข่ไก่ , ปรุงรสด้วยเกลือ และเครื่องเทศ โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากยี่หร่า และผักชีหลากชนิด นิยมนำไปทอดเพื่อเป็นอาหารว่าง ที่มาของเมนูนี้ ได้อธิบายไว้ว่า หลายทฤษฎียอมรับว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศอียิปต์
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีคำถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และโดยใครกันแน่ ในสมมุติฐานหนึ่งเชื่อว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดจากตำรวจอียิปต์ เมื่อราว 1,000ปีที่แล้ว บ้างก็พูดว่าเมนูนี้มาจากอินเดีย สู่ตะวันออกกลาง เมื่อศตวรรษที่ 6 เป็นต้น
ในตอนท้ายของคำอธิบายเบื้องหลังเมนู “ฟาลาเฟล”นี้ ได้เล่าถึง การแพร่หลายของเมนูนี้ไปสู่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 20 โดยผู้ที่ย้ายถิ่นฐาน หลังจากเมนูนี้ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในอิสราเอลอย่างมาก
หรือจะเป็น “Kneidlach” ซุปไก่และขนมปังจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งใช้แป้งแบบยิวดั้งเดิมแต่ใช้วิธีการทำแบบยุโรปตะวันออก, ปลาย่างสไตล์โมร็อกโก, “Sabich” ขนมปังไส้ไข่และสลัดผักจากประเทศอิรัก, “Bourekas” พายหลากหลายไส้จากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ
ข้าวสไตล์เปอร์เซีย, “Labneh” ครีมชีสและโยเกิร์ตจากประเทศเลบานอน, “Schug” ซอสเครื่องเทศจากประเทศเยเมน และ “Ptitim” อาหารทำจากข้าวสาลีที่ชาวอิสราเอลคิดค้นขึ้นในสมัยก่อตั้งประเทศใหม่ๆ เนื่องจากยังไม่สามารถปลูกข้าวเองได้ เป็นต้น
ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ยังมีเซอร์ไพรซ์จากทางสถานทูต เพราะทุกคนได้รับขนมปัง “ฮาลาห์” ผลงานการปั้นของตัวเองเป็นของฝากชิ้นเดียวในโลกกลับบ้านไปด้วย ซึ่งขนมปัง “ฮาลาห์” เป็นอาหารที่ชาวอิสราเอลมักจะรับประทานในทุกวันศุกร์กับครอบครัวของตน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้าตามธรรมเนียมชาวยิวโบราณ
อาหารอิสราเอลในทุกจาน ล้วนมีที่มาที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งเรื่องศาสนา การอพยพย้ายถิ่นฐาน การกสิกรรม และด้านอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศอิสราเอลนั่นเอง
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,825 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565